เปิดแอป AirBKK เทียบค่าฝุ่น PM2.5 โครงการบางกอกมอลล์ สุ่มสแกนคิวอาร์โค้ดเช็กผู้ค้าหน้าบิ๊กซี ชมคัดแยกขยะแพรนด้าจิวเวลรี่ สำรวจที่ดินย่านไบเทคบางนา - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

เปิดแอป AirBKK เทียบค่าฝุ่น PM2.5 โครงการบางกอกมอลล์ สุ่มสแกนคิวอาร์โค้ดเช็กผู้ค้าหน้าบิ๊กซี ชมคัดแยกขยะแพรนด้าจิวเวลรี่ สำรวจที่ดินย่านไบเทคบางนา

เปิดแอป AirBKK เทียบค่าฝุ่น PM2.5 โครงการบางกอกมอลล์ สุ่มสแกนคิวอาร์โค้ดเช็กผู้ค้าหน้าบิ๊กซี ชมคัดแยกขยะแพรนด้าจิวเวลรี่ สำรวจที่ดินย่านไบเทคบางนา เล็งจุด Hawker Center ตลาดต้นไทร ต่อยอดแยกขยะเขตบางนา ส่องสวนบึงในฝันสวรรค์บางนา
เมื่อวันที่ 16 ก.พ.66 เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางนา ประกอบด้วย

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการบางกอกมอลล์ ซอยบางนา-ตราด 1 ถนนเทพรัตน ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ ที่จอดรถ อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักการโยธา ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้เปิดแอปพลิเคชัน AirBKK ตรวจวัดค่าคุณภาพอากาศในพื้นที่โครงการก่อสร้าง ซึ่งค่าคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดได้ใกล้เคียงกับเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ติดตั้งอยู่ด้านในพื้นที่โครงการก่อสร้าง พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำผู้ประกอบการให้ติดตั้งตาข่ายคลุมอาคารที่กำลังก่อสร้างให้ครอบคลุมทุกขั้นและยาวลงมาถึงพื้นดิน เปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณประตูทางเข้า-ออกโครงการ และพื้นที่โดยรอบโครงการตลอดเวลาที่ทำงาน ล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ ซึ่งโครงการมีเครื่องฉีดล้างล้ออัตโนมัติ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ 5 แห่ง ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 33 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน/รถบรรทุกควันดำ 8 แห่ง ประเภทบริษัทรถทัวร์/ควันดำ 1 แห่ง ประเภทบริษัทรถบรรทุก/ควันดำ 3 แห่ง ประเภทท่ารถตู้/ควันดำ 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมาย


ตรวจพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สาขาบางนา ถนนเทพรัตน ซึ่งบริเวณพื้นที่ดังกล่าว และหน้าเดอะเครนตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบางนา อยู่ในแผนการปรับภูมิทัศน์ปรับปรุงแผงค้าในพื้นที่เขตบางนา ระยะที่ 1 เดือนกันยายน ถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมาเขตฯ ดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จเรียบร้อย โดยได้รับการสนับสนุนแผงค้าจากกลุ่มผึ้งน้อย บริษัท มานะพัฒนาการ จำกัด ซึ่งมีรูปแบบและลักษณะเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม ขณะนี้เขตฯ ได้ดำเนินการ ระยะที่ 2 เดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 บริเวณถนนสรรพาวุธ (หน้าองค์การแก้วเดิม) และปากซอยสุขุมวิท 103 (อุดมสุข) ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้สแกนคิวอาร์โค้ด ซึ่งติดอยู่บริเวณหน้าร้านค้า เพื่อตรวจสอบผู้ค้าที่ได้ลงทะเบียนไว้กับทางเขตฯ ว่าผู้ค้ารายดังกล่าวที่ทำการค้าอยู่ เป็นบุคคลเดียวกันกับที่ลงทะเบียนไว้กับทางเขตฯ หรือไม่ เพื่อป้องกันบุคคลอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ แอบสวมรอยนำสินค้ามาตั้งจำหน่ายแทน ตลอดจนเพื่อความโปร่งใส ประชาชนสามารถตรวจสอบได้



ทั้งนี้ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 212 ราย ได้แก่ 1.ปากซอยสุขุมวิท 103 (อุดมสุข) ผู้ค้า 123 ราย 2.ถนนสรรพาวุธ (หน้าองค์การแก้วเดิม) ผู้ค้า 22 ราย 3.ปากซอยสุขุมวิท 107 ผู้ค้า 13 ราย 4.ปากซอยสุขุมวิท 66/1 (ฮอนด้า) ผู้ค้า 22 ราย 5.หน้าเดอะเครนตรงข้ามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบางนา ผู้ค้า 13 ราย 6.หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีบางนา ผู้ค้า 19 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 10 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 217 ราย ได้แก่ 1.ถนนเทพรัตน (ขาออก) ตั้งแต่ซอยบางนาตราด 7 ถึงหน้า SB Design square ผู้ค้า 6 ราย 2.ซอยสุขุมวิท 103 (ซอยอุดมสุขเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยสุขุมวิท 103 ถึงปากซอยอุดมสุข 3 (แนวใน) ผู้ค้า 18 ราย ตั้งแต่ซอยอุดมสุข 7 ถึงซอยอุดมสุข ผู้ค้า 31 ราย 3.ซอยสุขุมวิท 103 (ซอยอุดมสุขเลขคู่) ตั้งแต่ซอยอุดมสุข 58 ถึงท้ายซอยอุดมสุข 18 ผู้ค้า 22 ราย 4.ถนนสรรพาวุธ ฝั่งซ้ายหน้าวัดบางนานอก ตั้งแต่สี่แยกสรรพาวุธ ถึงหน้าเซเว่นหน้าวัดบางนานอก ผู้ค้า 13 ราย 5.ถนนสรรพาวุธ ซอย 2 (เลียบด่วน) ตั้งแต่หน้าคอนโดรีเจ้นท์ (ตรงข้ามเซเว่น) ถึงทางแยกเข้าซอยกุศลศิลป์ ผู้ค้า 14 ราย 6.ถนนสรรพาวุธ ท่าน้ำวัดบางนานอก ตั้งแต่ประตูทางเข้าองค์การแก้วเดิม ถึงท่าน้ำวัดบางนานอก ผู้ค้า 12 ราย 7.หน้าโรงเรียนสรรพาวุธ ตั้งแต่ปากซอยจ่าโสด ถึงแนวรั้วสนามฟุตบอล ผู้ค้า 4 ราย 8.ซอยเพี้ยนพิน ตั้งแต่ตรงข้ามปากซอยจ่าโสด 24 ถึงท้ายซอยรุ่งหัฎฐาแมนชั่น 2 ผู้ค้า 26 ราย 9.ถนนสุขุมวิท 105 (ลาซาล) ตั้งแต่ปากซอยลาซาล ถึงท้ายซอยศรีนครินทร์ ผู้ค้า 47 ราย 10.ถนนเทพรัตน (ขาเข้า) ตั้งแต่ถนนเทพรัตน กม. 4 ถึงสี่แยกบางนา ผู้ค้า 24 ราย





เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) ถนนเทพรัตน เขตฯ ได้ประสานเข้าไปให้ความรู้เรื่องการคัดแยกตั้งแต่ต้นทางและการใช้ประโยชน์จากขยะ ซึ่งทางบริษัทฯ ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาขิกเครือข่ายการจัดการขยะของเขตบางนา และเริ่มมีการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง ทำให้มีปริมาณขยะที่ถูกขัดแยกเพิ่มมากขึ้น วิธีการจัดการขยะ ดังนี้ 1.มีจุดคัดแยกขยะรีไซเคิล ที่สะดวกต่อการทิ้งแยก และมีแม่บ้านเป็นผู้รวบรวม โดยมีปริมาณการคัดแยกเฉลี่ย 1,500 กิโลกรัมต่อเดือน (50 กิโลกรัมต่อวัน) 2.กำหนดจุดคัดแยกขยะเศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ ในโรงอาหารและโรงครัว ประสานให้เกษตรกรมารับนำไปเลี้ยงสัตว์ โดยมีปริมาณการคัดแยกเฉลี่ย 4,500 กิโลกรัมต่อเดือน (150 กิโลกรัมต่อวัน) 3.ขยะเศษใบไม้ กิ่งไม้ ให้คนดูแลสวน นำไปหมักทำปุ๋ยทั้งหมด 4.เขตฯ เข้าจัดเก็บขยะทั่วไป 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ผลจากการคัดแยกขยะนำกลับไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นทาง ทำให้มีปริมาณขยะลดลง 200-250 กิโลกรัมต่อวัน

สำรวจการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บริเวณศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ถนนเทพรัตน ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 32,336 แปลง สำรวจครบแล้ว สิ่งปลูกสร้าง 33,822 แห่ง สำรวจครบแล้ว ห้องชุด 38,275 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 104,433 รายการ สำรวจครบแล้ว ปัจจุบันพื้นที่บางแห่งอาจเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อทำประโยชน์อย่างอื่นทดแทน หรือเจ้าของที่ดินอาจปล่อยทิ้งไว้ไม่ใช้ประโยชน์ เขตฯ จึงต้องลงสำรวจสภาพพื้นที่จริง ปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง เพื่อนำไปประเมินการจัดเก็บภาษีให้มีความถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมฝ่ายรายได้ สอบถามข้อมูลในการจัดเก็บภาษี การจัดส่งไปรษณีย์ลงทะเบียน พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

สำรวจพื้นที่ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) บริเวณตลาดต้นไทร (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง) ถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นตลาดของเอกชน มีพื้นที่ว่างรองรับผู้ค้าได้ 50 แผง เจ้าของตลาดพร้อมให้ความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้า โดยมีพื้นที่รองรับผู้ค้าที่จะย้ายเข้ามาทำการค้าในตลาด จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนดไว้ เบื้องต้นเขตฯ จะเจรจากับผู้ค้าที่พร้อมย้ายเข้ามาทำการค้าในตลาดดังกล่าว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center อาจจะเป็นพื้นที่ว่างหรือตลาดของเอกชน โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน รวมถึงย้ายผู้ค้าที่อยู่ติดถนนใหญ่หรือปากซอยให้เข้าไปอยู่ในซอย เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่



ตรวจเยี่ยมการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตบางนา วิธีการคัดแยกขยะ โดยตั้งวางถังขยะแยกประเภทในอาคาร ดังนี้ ถังขยะทั่วไป (สีน้ำเงิน) ถังขยะเศษอาหาร (สีเขียว) ถังขยะรีไซเคิล (สีเหลือง) ถังขยะอันตราย (สีส้ม) ถังขยะติดเชื้อ (สีแดง) พร้อมทั้งส่งเสริมการคัดแยกขยะ เพื่อเป็นต้นแบบการคัดแยกขยะ การใช้ประโยชน์จากขยะในหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเรียนรู้และศึกษาถึงวิธีการคัดแยกขยะ สร้างแรงจูงใจให้นำไปปฏิบัติ แนวทางดำเนินการ ดังนี้ 1.สร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องการคัดแยกขยะตามหลัก 3R เช่น ลดการใช้ขยะถุงพลาสติกให้ใช้ถุงผ้าแทน ใช้กล่องบรรจุอาหารที่ใช้ซ้ำได้ 2.ทุกฝ่ายมีจุดคัดแยกขยะอย่างน้อย 2 ประเภท คือขยะรีไซเคิลและขยะอินทรีย์ ส่วนขยะอันตรายและขยะทั่วไปให้ทิ้งในจุดรวมที่กำหนด 3.เจ้าหน้าที่ให้ความร่วมมือ พร้อมจัดทำข้อมูลปริมาณขยะที่คัดแยก 4.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้มารับบริการ ช่วยกันคัดแยกขยะและนำไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นทาง สำหรับปริมาณการคัดแยกขยะ ดังนี้ เดือนตุลาคม 2565 ขยะรีไซเคิล 393 กิโลกรัม ขยะอินทรีย์ 230 กิโลกรัม รวม 623 กิโลกรัม เดือนพฤศจิกายน 2565 ขยะรีไซเคิล 614 กิโลกรัม ขยะอินทรีย์ 152 กิโลกรัม รวม 766 กิโลกรัม เดือนธันวาคม 2565 ขยะรีไซเคิล 917 กิโลกรัม ขยะอินทรีย์ 224 กิโลกรัม รวม 1,141 กิโลกรัม เดือนมกราคม 2566 ขยะรีไซเคิล 1,024 กิโลกรัม ขยะอินทรีย์ 217 กิโลกรัม รวม 1,241 กิโลกรัม ปริมาณรวมขยะรีไซเคิล 2,948 กิโลกรัม ปริมาณรวมขยะอินทรีย์ 823 กิโลกรัม ปริมาณรวมขยะทั้งหมด 3,771 กิโลกรัม

ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามการปรับปรุงสวน 15 นาที สวนบึงในฝันสวรรค์บางนา ถนนสรรพาวุธ เขตฯ มีสวนสาธารณะเดิม ซึ่งดำเนินการปรับปรุงเป็นสวน 15 นาที จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนบึงในฝันสวรรค์ พื้นที่ 11 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา โดยปลูกเสริมต้นทองอุไร ต้นหูกระจง จัดสวนหย่อม มุมพักผ่อนเพิ่ม พัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม จุดถ่ายรูปริมบึง เพิ่มลานกีฬา สนามเปตอง สนามตะกร้อ 2.สวนหย่อมใต้ทางด่วน พื้นที่ 8 ไร่ 18 ตารางวา เป็นพื้นที่ของการทางพิเศษฯ โดยปลูกเสริมต้นทองอุไร ปลูกไม้ดอกเพิ่มเติม นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำสวนสาธารณะใหม่ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมประติมากรรมสี่แยกบางนา (ควายเหล็ก) ถนนสุขุมวิท พื้นที่ 2 งาน 65 ตารางวา เป็นที่ดินของกรมทางหลวง โดยปลูกเสริมต้นทองอุไร ต้นชะแมบทอง ต้นประดู่ ปลูกเสริมไม้ดอก จัดหาเก้าอี้นั่ง 2.สวนหย่อมท่าน้ำสรรพาวุธ พื้นที่ 90 ตารางวา เป็นที่ราชพัสดุ อยู่ระหว่างดำเนินการปรับพื้นตัวหนอน และทาสี ตัดแต่งไม้ยืนต้น พร้อมทั้งจัดหาต้นไม้และวัสดุปลูกเพิ่มเติม

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางสาวโศรยา วัธชนะ ผู้อำนวยการเขตบางนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางนา สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
 #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี
(จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น