นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในงานแถลงข่าวว่า “รางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม หรือ รางวัล DEmark เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญของกรม ที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยตระหนักถึงความสำคัญของการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ สามารถนำอัตลักษณ์ไทยมาสร้างเป็นจุดเด่นสร้างจุดแข็งให้กับสินค้าและธุรกิจ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เกิดเป็นสินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการตลาด ด้าน Megatrend และ Next Normal พร้อมรับ การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต และ การเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการไทย ของท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้เร่งดำเนินการเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมออกแบบให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รวมทั้งเป็นบริการสนับสนุนภาคการส่งออก ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยสู่เวทีการค้าในระดับสากล”
รางวัล DEmark ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 และในปีนี้เข้าสู่ปีที่ 16 มีสินค้าจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล DEmark แล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,081 รายการ และมีผลงานออกแบบไทยที่รับรางวัล Prime Minister’s Award สาขารางวัล Best Design จากนายกรัฐมนตรี รวมแล้วทั้งสิ้น 128 รายการ รวมทั้งมีผลงานที่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย โดยได้เข้าร่วมการประกวดรางวัลระดับนานาชาติ เช่น รางวัล Good Design Award (G-mark) จากประเทศญี่ปุ่นแล้ว 503 รายการ รางวัล DEmark ได้รับความร่วมมือจากสถาบันส่งเสริมการออกแบบแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ Japan Institute of Design Promotion (JDP) ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากรางวัล G-mark ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรางวัลด้านการออกแบบที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มาร่วมพิจารณาตัดสิน DEmark และสนับสนุนผลงานที่ได้รับรางวัล DEmark เข้าร่วมการประกวดรางวัล G-mark ประเทศญี่ปุ่น และกรมยังมีความร่วมมือกับรางวัลการออกแบบนานาชาติอื่นๆ เช่น รางวัล Golden Pin Design Award ไต้หวัน และรางวัล Hongkong Smart Design Awards ฮ่องกง
ในวาระรางวัลครบรอบในปีที่ 16 นี้ กรมได้ปรับชื่อรางวัล จากเดิม รางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี เปลี่ยนชื่อเป็น รางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการออกแบบที่ไม่ได้จำกัดเพียงผลงานที่เป็นสินค้าเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมกลุ่มบริการออกแบบต่างๆ เช่น ผลงานออกแบบตกแต่งภายใน ผลงานออกแบบกราฟิก ผลงานออกแบบดิจิทัล เป็นต้น และในปีนี้ได้ปรับเกณฑ์การพิจารณาตัดสินรางวัล เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มของการออกแบบมุ่งสู่ความยั่งยืน และเพิ่มประเภทใหม่ของสาขาการประกวด ได้แก่
กลุ่มผลงานออกแบบระบบ บริการและแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ของธุรกิจยุคใหม่ที่มีแนวโน้ม นำการออกแบบไปประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมบริการดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้ใช้งานและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจได้ นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับหลักเกณฑ์การพิจารณารางวัล เพื่อส่งเสริมสินค้า BCG รวมทั้งผลักดันให้สินค้าไทยมีแนวทางการออกแบบที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ให้ครอบคลุมองค์ประกอบหลายด้านของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตั้งเป้าจะมีผลงานสมัครเข้ารับรางวัลไม่ต่ำกว่า 600 รายการ และมีผลงานได้รับรางวัลไม่ต่ำกว่า 80 รายการ
รางวัล DEmark 2023 มี 7 สาขารางวัล ได้แก่
(1) กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ (Industrial Process/ Industrial Craft)
(2) กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น (Gift & Decorative Items/ Household Items/ Creative & Innovative Fashion/ Apparel/ Jewelry/ Textile/ etc.)
(3) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและดิจิทัล (Home Appliances/ Equipment and Facilities for Office/ Digital Appliances/Equipment /IoT / etc.)
(4) กลุ่มผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging Design)
(5) กลุ่มผลงานกราฟิกดีไซน์ (Font/ Graphic on Surface/ Digital Media/ Identity Design/ Illustration/ Character/ Digital Art)
(6) กลุ่มผลงานออกแบบตกแต่งภายใน ที่เกี่ยวข้องกับ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้า พื้นที่ทํางานร่วมกัน อาคารชุด (Hotel/ Restaurant/ Cafe/ Retail Shop/ Co-Working Space/ Condominium Project)
(7) กลุ่มผลงานใหม่ คือ กลุ่มผลงานออกแบบระบบ บริการและแพลตฟอร์มดิจิทัล (Systems, Services, Digital Platform, Online Interface Design, Apps for Smartphones and Tablets, Website)
รางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม หรือรางวัล DEmark Award ในปีนี้ DEmark เน้นการสรรหาจากกลุ่มเป้าหมายสินค้าและบริการ ในกลุ่มเกษตรสร้างมูลค่า อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูป (สมุนไพร เครื่องสำอาง) สินค้าฮาลาล อาหารสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเน้นกลุ่มสินค้าที่มีการออกแบบ
บรรจุภัณฑ์หรือการออกแบบกราฟิก กลุ่มอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต อาทิ สินค้ายานยนต์สมัยใหม่ สินค้าอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์หรือเทคโนโลยีที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเครื่องกลการเกษตร ตลอดจนกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ไลฟ์สไตล์และแฟชั่นที่ตอบสนองยุค New Normal และสินค้าสำหรับตลาดเฉพาะ อาทิ สินค้า Work from Home / Work form Anywhere สินค้า BCG รวมถึงธุรกิจบริการด้านการออกแบบ อาทิ การออกแบบกราฟิก ภาพประกอบ การ์ตูนคาแรคเตอร์ ดิจิทัลอาร์ต การออกแบบตกแต่งภายในที่เกี่ยวข้องกับ โรงแรม ร้านอาหารกาแฟ ร้านค้า พื้นที่ทํางานร่วมกัน อาคารชุด รวมทั้งการออกแบบระบบและแพลตฟอร์มดิจิทัล
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ในปี 2565 มูลค่าการส่งออกของผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับรางวัล DEmark สร้างรายได้เข้าประเทศ มูลค่าประมาณ 9,829 ล้านบาท (วัดจากมูลค่าการส่งออก เฉพาะผู้ส่งออกที่ได้รับรางวัล DEmark เมื่อปี 2562 - 2565 จำนวน 43 ราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีที่ผ่านมา (มูลค่าปี 2564 จำนวน 8,868 ล้านบาท) ซึ่งความสำเร็จของรางวัล DEmark นี้ นับเป็นความภาคภูมิใจที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการออกแบบและนวัตกรรมให้สามารถก้าวเดินได้อย่างต่อเนื่อง และก้าวเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจสร้างมูลค่าได้อย่างมั่นคง
ภายในงานแถลงข่าว มีกิจกรรมเสวนาด้านการออกแบบกับกรรมการและเจ้าของผลงานรางวัล DEmark ในหลากหลายสาขา นำทีมโดยผู้แทนคณะกรรมการ และนักออกแบบรางวัล DEmark ได้แก่ คุณประธาน ธีระธาดา Editor-in-Chief, Art4D Magazine กรรมการรางวัล DEmark คุณนิวัติ อ่านเปรื่อง Senior Partner บริษัท PIA Interior นักออกแบบรางวัล DEmark "Interior Design" ผู้ออกแบบเรือสิริมรรณพ คุณอังกรู อัศววิบูลย์พันธุ์ จาก Ankul Design ผู้ออกแบบ Key Visual DEmark 2023 และ คุณณัฐจรัส
เองมหัสสกุล Design Director จาก Studio Dialogue นักออกแบบรางวัล DEmark "Graphic Design"
โดยมาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “Brave The Wave of Creation คลื่นพลังสร้างสรรค์ งานดีไซน์ไทย” พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการออกแบบและการเตรียมพร้อมเพื่อส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในปี 2023 นี้
รางวัล DEmark 2023 เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 และจะมีการจัดแสดงผลงานของผู้สมัครทั้งหมดในเดือนมิถุนายน 2566 ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม โดยจะประกาศผล ในเดือนกรกฎาคม สำหรับสิทธิประโยชน์สินค้าที่ได้รับรางวัล DEmark จะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย เช่น สามารถใช้ตรา DEmark ในการส่งเสริมการขายสินค้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้เข้ารอบ 2 การประกวดรางวัล G-Mark ประเทศญี่ปุ่นโดยทันทีและผลงานที่ได้รับรางวัล G-mark จะได้จัดแสดงนิทรรศการในงาน Good Design Exhibition 2023 ณ ประเทศญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม 2566 ได้รับการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์และโอกาสทางการค้าในเวทีสำคัญด้านการออกแบบระดับโลก เช่น งาน Milan Design Week อิตาลี งาน Maison & Objet Paris ฝรั่งเศส งาน Creative Expo Taiwan เป็นต้น
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการไทย ส่งสินค้า /บริการ เข้าร่วมโครงการนำเสนอจุดเด่นของผลงานให้เป็นที่รับรู้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจต่อผู้ได้รับรางวัล เป็นแบบอย่างในการพัฒนาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ของประเทศ นักออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ที่สนใจเข้าร่วมโครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ปี 2566 สามารถสมัครผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทาง https://demarkaward.net/ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ – 3 พฤษภาคม 2566 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและ สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169 Email : demark@demarkaward.net
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น