การหารือในวันนี้ เบื้องต้นที่ประชุมมีความคิดเกี่ยวกับการมี Bangkok Official Character หรือ MASCOT ของกรุงเทพฯ รวมถึง Character ประจำย่านต่างๆ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการสร้างความจดจำและสร้างอัตลักษณ์ให้กับกรุงเทพมหานคร สอดคล้องตรงตามนโยบายของกทม.ที่ต้องการดึงอัตลักษณ์ย่าน สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนที่มีพหุวัฒนธรรมกว่า 20 ย่านที่กทม.ได้เริ่มต้นดำเนินการไปแล้ว โดย Bangkok Official Character ดังกล่าวต้องสื่อถึงความเป็นมาของกรุงเทพฯและมีเนื้อหาที่มีความเข้มแข็ง บ่งบอกเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯและย่านต่างๆได้อย่างชัดเจน ซึ่งในเบื้องต้น กทม.อาจร่วมกับ TCAP หรือ CEA เพื่อจัดการประกวด Bangkok official character หรือ MASCOT ของกรุงเทพฯ โดยให้ประชาชนทุกภาคส่วนในกรุงเทพฯมีส่วนร่วมในการออกแบบ เพื่อเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนกระตุ้นเศรษฐกิจรายได้ และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอีกด้วย ซึ่ง MASCOT ที่ชนะการประกวดจะนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคต
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่โครงการ CHANGE 2022 ได้นํา Visual Character ไปพัฒนาธุรกิจ SMEs ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ สร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในปีนี้ CHANGE 2023 มุ่งเน้นการนํา Visual Character ไปใช้ประโยชน์ในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เกิดผลผลิตทางกายภาพ และสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ส่งเสริมให้เกิดคาแรคเตอร์ที่เป็นภาพลักษณ์ของย่านต่าง ๆ ในประเทศซึ่งสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่การท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจในย่านต่างๆ
นอกจากนี้ สมาคมการค้าลิขสิทธิ์และของที่ระลึกจากคาแรคเตอร์ดีไซน์ ของเล่น และผลงานศิลป์ร่วมสมัย (TCAP) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้ร่วมกันนำเสนอโครงการ CHANGE 2021 และ CHANGE 2022 และได้หารือเกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือในการนำคาแรคเตอร์จากการออกแบบและเจ้าของลิขสิทธิ์ที่เข้าร่วมโครงการCHANGE 2022 ไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 40 ตัว โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีคาแรคเตอร์ ดังนี้ 1. บริเวณที่ต่อเนื่องกับถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ ได้แก่ ตลาดน้อย ทรงวาด เยาวราช และสำเพ็ง จำนวน 4 ตัว 2. บริเวณคลองโอ่งอ่าง และย่านสามแพร่ง เขตพระนคร จำนวน 2 ตัว ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้นำเสนอแนวคิดในการนำผลผลิตคาแรคเตอร์ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่นปฏิบัติและสอดคล้องกับกับภารกิจด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของกรุงเทพมหานคร พร้อมนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานและหารือแนวทางความร่วมมือในการจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อจัดงานตลาดนัดคาแรคเตอร์ (Character Festival) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร
สำหรับการประชุมหารือในวันนี้จัดขึ้น ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร โดยมีนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผู้บริหารเขตพระนครและเขตสัมพันธวงศ์ นางปัจฉิมา ธนสันติ ที่ปรึกษาสมาคม TCAP นางดวงใจ คูห์ศรีวินิจ นายกสมาคม TCAP นายณภัทร พรหมพฤกษ์ เลขาสมาคม TCAP นายภควัต วงษ์ไทย เจ้าหน้าที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นายพรชัย ตติยบุรุษ ผู้ประสานงานเครือข่ายวิสาหกิจย่านริมถนนเจริญกรุง นายอภิชาติ ประสิทธิ์นฤทธิ์ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ ร่วมหารือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น