ส.ก.จอมทอง เสนอทบทวนการจัดตั้งสภาคนเมืองประจำเขต ห่วงปัญหาความซ้ำซ้อน...G - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2566

ส.ก.จอมทอง เสนอทบทวนการจัดตั้งสภาคนเมืองประจำเขต ห่วงปัญหาความซ้ำซ้อน...G

ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 (4 ม.ค.66) : นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตจอมทอง ได้เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาทบทวนการจัดตั้งสภาคนเมืองประจำเขต เนื่องจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการกรุงเทพมหานคร อาทิ นโยบายสร้างการสื่อสารสองทางระหว่างกรุงเทพมหานครและประชาชนผ่านสภาคนเมืองประจำเขต นโยบายให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดงบประมาณกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นนโยบายในการเพิ่มช่องทางและเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกรุงเทพมหานคร ด้วยโครงสร้างประชาคมเขต โดยให้ทุกสำนักงานเขตดำเนินการจัดตั้ง “สภาคนเมืองประจำเขต…” พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการสภาคนเมืองประจำเขต ในสัดส่วนที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่เขต แต่อย่างน้อยต้องประกอบด้วย ผู้อำนวยการเขต ผู้แทนภาคประชาชน หัวหน้าหน่วยงานหรือส่วนราชการอื่นหรือผู้บริหารสถาบันการศึกษา ผู้แทนภาคธุรกิจ หรือองค์กรเอกชน กลุ่มบ้านในรั้วหรือหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุด ผู้แทนชุมชน นักวิชาการ หรือปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ในพื้นที่เขต และอื่น ๆ อย่างน้อย 30 คน เป็นคณะกรรมการฯ

การจัดตั้งประชาคมเขตโดยใช้กลไกการจัดตั้งสภาคนเมืองประจำเขตไม่มีความชัดเจน การได้มาของคณะกรรมการสภาคนเมืองประจำเขตของแต่ละเขตอาจไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ส่งผลให้การบริหารราชการกรุงเทพมหานครในการพิจารณาประเด็นปัญหาในเชิงพื้นที่ การสะท้อนปัญหา การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนไม่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับปัจจุบัน ยังไม่มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชกรุงเทพมหานครมารองรับแต่ประการใด จึงขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาทบทวนการจัดตั้งสภาคนเมืองประจำเขต

“นโยบายของผู้ว่าฯ คือเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง แต่การจัดตั้งสภาคนเมืองประจำเขตในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงเป็นห่วงว่าการแต่งตั้งอาจมีการใช้ตำแหน่งในทางอื่นที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และอาจมีการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ตนไม่ขัดข้องในการมีภาคประชาชนมาร่วมบริหารงาน แต่เนื่องจากการจัดตั้งสภาคนเมืองประจำเขตไม่มีความชัดเจน ประกอบกับหลายเขตมีการประชุมเครือข่ายในลักษณะเช่นนี้เป็นประจำอยู่แล้ว โดยเป็นการประชุมเพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะของชุมชน ผ่านทางกรรมการชุมชนซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากคนในชุมชน และได้รับค่าตอบแทน โดยมีกฎหมายรองรับถูกต้อง เช่นเดียวกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่ได้รับการเลือกตั้งมาเพื่อดูแลพี่น้องในชุมชน การที่ฝ่ายบริหารมีหนังสือไปยัง 50 เขต เร่งรัดให้มีการแต่งตั้ง เห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ เรื่องเร่งด่วนที่ควรเร่งรัด เช่น การจัดสร้างที่ทำการสำนักงานเขตปทุมวัน การตั้งโรงเรียนดับเพลิง หรือการแก้ปัญหาความเดือดร้อนไฟฟ้าดับ และความปลอดภัยชุมชน ซึ่งประชาชนได้ร้องเรียนผ่านทางระบบ Traffy Fondue อย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ฝ่ายบริหารได้ทบทวนให้รอบคอบ” ส.ก.สุทธิชัย กล่าว

จากนั้นส.ก.ได้ร่วมอภิปรายในญัตติดังกล่าวหลายท่าน ประกอบด้วย นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง กล่าวว่า ในอดีตมีตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ต่อมาเป็นตำแหน่งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) และตำแหน่งนี้ก็หายไป ซึ่งหน้าที่หนึ่งที่สำคัญของสมาชิกสภาเขตคือต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาผู้อำนวยการเขต ปัจจุบันหลายเขตมีผู้บริหารซึ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่ จึงไม่แน่ใจว่าการแต่งตั้งสภาคนเมืองประจำเขตโดยผู้บริหารเขตใหม่ที่ยังไม่เชี่ยวชาญในพื้นที่จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยหรือไม่ รวมทั้งขอให้ฝ่ายบริหารได้ดูแลกรรมการชุมชนที่ทำหน้าที่ในขณะนี้ให้ดีก่อน

นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า ปัจจุบันเงินเบี้ยประชุมสำหรับกรรมการชุมชนที่เข้าประชุม คือ 1,000 บาทต่อท่าน ต่อการประชุม 1 ครั้ง หากมีสภาคนเมืองประจำเขตขึ้นมาจะมีความซ้ำซ้อนและต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมถึงกังวลว่าการตั้งสภาคนเมืองประจำเขตจะสามารถเชิญรัฐวิสาหกิจมาร่วมด้วยได้หรือไม่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีการบูรณาการให้ครบทุกภาคส่วน

นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน กล่าวว่า เข้าใจว่าผู้ว่าฯอยากมีองค์กรเล็ก ๆ ช่วยดูแลในเขตเพิ่มขึ้น แต่เห็นว่าสภาคนเมืองประจำเขตไม่มีวาระการทำงานที่ชัดเจน รวมถึงอยากให้ผู้ว่าฯให้ความสำคัญกับส.ข.ที่มีกฎหมายรองรับอยู่ก่อน เนื่องจากในขณะนี้อดีตส.ข.หลายท่านก็ยังทำหน้าที่ช่วยเหลือในพื้นที่อยู่ จึงอยากให้ผู้ว่าฯช่วยผลักดันในเรื่องของส.ข.ให้ชัดเจน

นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า สภากรุงเทพมหานครเคยมีมติขอคืนตัวแทนพี่น้องประชาชนในตำแหน่งส.ข.มาแล้ว ซึ่งผู้ว่าฯ ได้ตอบในสภาด้วยว่าเห็นด้วยที่จะมีการเลือกตั้งส.ข.และรับจะไปประสานงานให้ ต่อมาผู้ว่าฯได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะตั้งสภาคนเมืองประจำเขตที่มาจากการแต่งตั้ง และกรรมการไม่มีความหลากหลาย ไม่เหมือนกับส.ข.ที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ประกอบกับฝ่ายบริหารได้เร่งรัดให้แต่งตั้งสภาคนเมืองประจำเขตให้เรียบร้อยในระยะเวลากระชั้นชิด ซึ่งอาจจะไม่เรียบร้อย และเห็นว่าคนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยผอ.เขต คงไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของคนที่แต่งตั้งตนเองได้ ในส่วนของหน้าที่ของสภาคนเมืองประจำเขตที่ต้องทำหน้าที่จัดลำดับความสำคัญปัญหาจากการร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue เห็นว่าไม่ใช่หน้าที่โดยตรง ควรเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการเขต หรือบุคลากรของสำนักงานเขตมากกว่า การที่ผู้ว่าฯรับปากว่าจะฟื้นส.ข.ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ในวันนี้กลับให้ตั้งสภาคนเมืองประจำเขตขึ้นมา ขอให้ทบทวนใหม่และคืนตำแหน่งส.ข.เพื่อให้เกิดกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ส.ก.บางกอกน้อย ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงบประมาณที่ผ่านการพิจารณาจากสภากรุงเทพมหานครไปแล้ว สภากทม.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญและอนุกรรมการเพื่อลงพื้นที่ดูอย่างใกล้ชิด และปรับลดงบประมาณตามความจำเป็น ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญได้เห็นชอบปรับลดตามความเห็นของอนุกรรมการที่ลงพื้นที่และเห็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาฝ่ายบริหารได้เสนอขอแปรญัตติงบประมาณดังกล่าวกลับเข้ามา ซึ่งสภากทม.ก็ได้ให้ความเห็นชอบโดยไม่ได้มีการตั้งอนุกรรมการตรวจสอบอีกครั้ง ในขณะที่ฝ่ายบริหารกลับมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาความคุ้มค่าของงบประมาณที่สภากรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบไปซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม เพราะหน้าที่การตรวจสอบควรเป็นของฝ่ายสภากทม.มากกว่า

นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กล่าวว่า ทุกหน่วยงานหากมีการตั้งประชาชนเข้ามาทำงานให้ จะเหมือนการตั้งกลุ่มทุนเพื่อไปทำงานให้ตนเอง ความหวังดีของฝ่ายบริหารเป็นสิ่งที่ดี แต่การแต่งตั้งในลักษณะนี้ไม่ตอบโจทย์และไม่ใช่การทำงานร่วมกับประชาชนที่แท้จริง สิ่งที่ประชาชนต้องการคือการแก้ปัญหาใกล้ตัว รวมถึงการแต่งตั้งครั้งนี้ต้องใช้งบประมาณเป็นเบี้ยประชุม การตั้งกรรมการเขตละ 30 คน หากคิดรวมทั้ง 50 เขต และต้องมีการประชุมทั้งปี ต้องใช้งบประมาณมากเพียงใด อาจเป็นความหวังดีในการแต่งตั้ง แต่วิธีการไม่น่าจะถูกต้อง จึงขอให้ทบทวนและหาวิธีที่ดีกว่านี้ ซึ่งกฎหมายอาจให้อำนาจในการแต่งตั้งได้ แต่การอนุมัติงบประมาณเป็นหน้าที่ของสภากทม.ที่จะพิจารณาอนุมัติหรือไม่อีกครั้ง

นางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม กล่าวว่า การจัดตั้งสภาคนเมืองประจำเขตเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องรู้ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง ปัจจุบันการประชุมเขตทุกเดือน ได้เชิญหลายหน่วยงานในพื้นที่มาประชุมแล้วแต่ก็ไม่ได้มาร่วมประชุมแต่อย่างใด หากฝ่ายบริหารได้กำหนดให้ตั้งสภาคนเมืองและมีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง จะทำให้เขตไม่มีเวลาในการดูแลพื้นที่ ดังนั้นจึงเห็นว่าการจัดตั้งสภาคนเมืองประจำเขตแต่ไม่มีความคุ้มค่า และไม่มีความชัดเจนในหน้าที่

นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ กล่าวว่า การตั้งสภาคนเมืองประจำเขตเป็นเรื่องที่มาจากแนวคิดของผู้บริหาร แต่สมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งนานาประเทศได้ให้การยอมรับในกระบวนการประชาธิปไตยดังกล่าว ต่างจากที่มาของสภาคนเมืองประจำเขตที่มาจากการแต่งตั้ง ปัจจุบันเห็นว่าผู้อำนวยการเขตทำงานหนักมากอยู่แล้ว แต่การตั้งสภาคนเมืองจะเป็นการเพิ่มหมวกเพิ่มงานให้ผู้อำนวยการเขตอีกหนึ่งใบ และซ้ำซ้อนกับการประชุมของกรรมการเขต ที่มีทุกภาคส่วนเข้าร่วม ทั้งนี้ควรตรวจสอบว่าปัญหาที่เขตได้รับข้อร้องเรียนจากการประชุมมีการแก้ไขแล้วกี่เรื่อง กี่เปอร์เซ็นต์จะมีประโยชน์มากกว่า รวมทั้งควรขับเคลื่อนสมาชิกสภาเขตให้เกิดขึ้น และทำให้สมาชิกสภาเขตเข้มแข็ง มีการบูรณาการการทำงานในพื้นที่ให้มากขึ้น

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงในที่ประชุมว่า เรื่องสภาคนเมืองประจำเขต เป็นหนึ่งในนโยบายของตนที่แถลงกับประชาชน เป็นเพียงการต้องการกระจายอำนาจที่ไม่มีผลตอบแทนหรือค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้อาจมีหลายกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในชุมชน แต่ในเรื่องของส.ข.ยังคงสนับสนุนเพราะอยากให้มีคนที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ขอน้อมรับความเห็นของสมาชิกทั้งหมดและจะปรับปรุงให้ดีขึ้น สำหรับการเร่งรัดการแต่งตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็วนั้น เนื่องจากขณะนี้เข้ามาทำงานแล้ว 6 เดือนจึงต้องติดตามความคืบหน้าการทำงาน ไม่ได้เป็นมิติของการทดแทนตำแหน่งส.ข. ยืนยันว่ายังเห็นคุณค่าของการเลือกตั้งเสมอ จุดนี้เป็นเพียงตัวเชื่อมก่อนที่เราจะมีส.ข. บางอย่างอาจมีข้อบกพร่องแต่จะพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้น และหารือส.ก.ในพื้นที่เพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงในเรื่องของการพิจารณาความคุ้มค่าการก่อสร้างสำนักงานเขตปทุมวัน ซึ่งได้มีการปรับรูปแบบเดิม ลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างที่มีราคาสูง และเป็นการใช้พื้นที่กลางเมือง จึงควรมีการก่อสร้างให้คุ้มค่าและเหมาะสมกับพื้นที่ และต้องมีการพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าของอาคารสำนักงานเขตปทุมวันให้มีการใช้พื้นที่ได้เต็มศักยภาพคุ้มกับเงินที่ลงไป และทำให้การก่อสร้างถูกลง สามารถมีพื้นที่ใช้สอยได้มากขึ้น

นายสุทธิชัย กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้ว่าฯทบทวนการตั้งสภาคนเมืองประจำเขต เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับและไม่มีความชัดเจน ในอำนาจหน้าที่ของสภาคนเมือง ทั้งนี้ขอบคุณผู้ว่าฯที่รับฟังและพิจารณาในเรื่องของสมาชิกสภาเขตอีกครั้ง 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น