รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวด้วยว่า ถ้าดูกันจริง ๆ กรุงเทพมหานครมีหน้าที่หลักอยู่ไม่กี่อย่าง เช่น เก็บขยะ ลอกท่อระบายน้ำ เป็นต้น เป็นงานที่กรุงเทพมหานครสามารถทำได้เต็มที่ สิ่งสำคัญของกรุงเทพมหานคร คือการประสานงาน ซึ่งถ้ามองตามอำนาจของกรุงเทพมหานครกับวงการภาพยนตร์ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยตรงไหน แต่สิ่งที่ทำได้เลยคือการเป็นเจ้าภาพช่วยประสานงานผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กรุงเทพมหานครไม่ได้เก่งทุกเรื่อง ถ้ามองว่ากรุงเทพมหานครไม่ต้องบริหารทุกเรื่อง แต่แบ่งให้คนที่เข้าใจแต่ละเรื่อง หรือให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้น ๆ มาบริหารอาจจะดีกว่า หรือได้ออกมาตรงกับความต้องการ เรื่องสร้างสรรค์กรุงเทพมหานครไม่เก่ง ต้องทำงานร่วมกับอุตสาหกรรม และคนที่เก่ง แล้วให้พื้นที่ในการดำเนินการ ส่วนเรื่องกองทุนสนับสนุนวงการภาพยนตร์ต้องดูอำนาจของกระทรวงมหาดไทยว่าทำได้แค่ไหน แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะถ้าให้ทุกเมืองมีกองทุนสนับสนุนซอฟท์พาวเวอร์มันเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งกรุงเทพมหานคร พร้อมหาแนวทางสนับสนุนวงการภาพยนตร์ในเรื่องต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ เช่น เรื่องสถานที่ การลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตเรื่องต่าง ๆ แรงงานที่มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นต้น
สำหรับการเสวนาหัวข้อ “ล่า ท้า ฝัน คนทำหนัง” ในวันนี้จัดขึ้นที่ ห้องอเนกประสงค์ ขั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน โดยมี นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ กรรมการสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย นายบรรจง บิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์ และนางสาวมนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล นักแสดง ร่วมเสวนา
(พัทธนันท์…สปส. รายงาน)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น