“หากแบ่งความรับผิดชอบตามนโยบาย 9 ดี สำนักการระบายน้ำจะรับผิดชอบเรื่องระบายน้ำและดูแลน้ำเสียเป็นหลัก โดยเกี่ยวข้องกับนโยบายเดินทางดี โครงสร้างดี และสิ่งแวดล้อมดี นโยบายเดินทางดีที่สำคัญคือการปรับปรุงทางเดินริมคลองที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น ทางเดินริมคลองแสนแสบ โดยเฉพาะช่วงที่ผู้รับเหมาทิ้งงานบริเวณ มศว.ประสานมิตร ระบบแสงไฟระหว่างทาง และนโยบายการเชื่อมโยงทางเดินตั้งแต่ภูเขาทองถึงมีนบุรี และพิจารณาเพิ่มในส่วนของคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร ส่วนฝั่งธนบุรีก็จะมีคลองภาษีเจริญที่จะทำทางเดินริมน้ำให้เกิดความต่อเนื่อง” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำกทม. ในกิจกรรม “ผู้ว่าฯสัญจร” หน่วยงานระดับสำนัก โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักการระบายน้ำ กทม.2 ดินแดง
สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วมจาก 9 จุด จะลดให้เหลือ 6 จุด ในปี 66 จะลดจุดเฝ้าระวัง จาก 48 จุด เหลือ 43 จุด รวมถึงถอดบทเรียนเมื่อปี 65 ซึ่งมีปัญหาน้ำท่วม 419 จุด ซึ่งหน่วยงานได้ดำเนินการแก้ไขโดยไม่มีวันหยุด ทั้งการล้างท่อ 3,358 กม. จากจำนวนกว่า 6,000 กม. ในปี 66 จะดำเนินกว่าอีก 4,000 กม. ขณะนี้ก็ได้เริ่มดำเนินการแล้วถึงแม้ว่าจะยังไม่มีฝน
ในส่วนของระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการที่ชุมชนคลองแสนแสนเพื่อให้น้ำที่บำบัดโดยชุมชนสามารถปล่อยลงคลองได้ โดยไม่สร้างมลภาวะ และดำเนินการในตลาดกทม. 12 แห่ง ปัจจุบันได้ออกแบบแล้ว 7 แห่ง ดำเนินการในแฟลต กทม. 6 แห่ง และติดตั้งบ่อดักไขมันในชุมชนเพิ่มเติมเพื่อเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง จำนวน 3,000 ลูก จากทั้งหมด 17,000 ลูก
ปี 65 ดำเนินการขุดลอกคลอง 99 คลอง ปี 66 ดำเนินการเพิ่ม 162 คลอง ทั้งนี้ฝากถึงประชาชนผู้ที่มีพื้นที่บึงธรรมชาติ และจะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างเท่ากับพื้นที่ปกติ หากไม่ต้องการเสียภาษีก็ขอให้ยกให้กทม.ทำเป็นแก้มลิงเพื่อประโยชน์ในการดักน้ำ ลดปัญหาน้ำท่วม และลดภาษีที่ต้องเสียด้วย นอกจากนี้กทม.ได้ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมแก้ฟันหลอคันกันน้ำริมแม่น้ำและคลองสายหลัก พบจุดที่มีปัญหา 119 จุด ได้รับงบประมาณเพื่อแก้ไขแล้ว 24 จุด อยู่ระหว่างของบปี 66 (เพิ่มเติม) จำนวน 22 จุด ของบปี 66 (งบกลาง) จำนวน 2 จุด ของบปี 67 จำนวน 9 จุด สำรวจออกแบบเพิ่มเติม 49 จุด
สำหรับแผนการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ได้ทบทวนความเหมาะสมและความต้องการของประชาชนในพื้นที่แล้ว พบว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการ ซึ่งจะของบปี 67 แบ่งเป็นงบอุดหนุน 70% และงบของ กทม. 30% การติดตั้งเซนเซอร์สูบน้ำ ไม่ต้องรอขอกุญแจ หรือการติดตั้งระบบ SCADA ที่เป็นการสั่งการทางไกล ดำเนินการแล้ว 34 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 30 แห่ง (ได้รับงบฯ 66) ติดตั้งเซนเซอร์เครื่องสูบน้ำชนิดเครื่องยนต์ดีเซลสั่งงานระยะไกล จำนวน 20 ชุด พร้อมอุปกรณ์ ได้รับงบฯ ปี 66
ระบบบำบัดน้ำเสียรวม ซึ่งในกรุงเทพฯ มีน้ำเสียกว่า 2 ล้านลบ.ม.ต่อวัน และกทม.สามารถบำบัดได้ 1 ล้านลบ.ม.ต่อวัน อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาทบทวนแผนแม่บทการจัดการน้ำเสีย กทม. เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าให้มากที่สุด การก่อสร้างอุโมงค์ 4-5 แห่งก็อยู่ในระหว่างการทบทวนความคุ้มค่าเช่นกัน
เรื่องของการรายงานฝนก็ได้ร่วมกับบริษัทญี่ปุ่นดำเนินการติดตั้งเรดาร์เพื่อให้ กทม. คาดการณ์ฝนได้อย่างแม่นยำและเตือนภัยได้ดีมากขึ้น ทั้งนี้ปี 66 กทม. ก็ยังดำเนินการไม่หยุด ทั้งการเก็บกระสอบทรายที่ใช้อุดท่อเพื่อกันน้ำย้อนในปี 65 ผลงานลอกท่อระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครความยาวรวม 6,541 กม. ปี 66 สำนักการระบายน้ำดำเนินการ 947.18 กม. เหลืออีก 547 กม. จะทำในปี 67 การขุดลอกคลองปี 66 เขตดำเนินการ 132 กม. สำนักการระบายน้ำ 50 กม. แล้วเสร็จ พ.ค. 66 การเปิดทางน้ำไหล สำนักการระบายน้ำดูแล 233 คลอง ประมาณ 1,000 กม.
นอกจากนี้มีการบำรุงรักษาและตรวจสอบอุโมงค์ระบายน้ำ สถานีระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ อุโมงค์ทางลอด บ่อสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือน้ำเต็มที่ และมีสิ่งที่กังวลอีกเรื่องคือการทำเขื่อนคันกันน้ำคลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าวที่มีผู้รุกล้ำคลองยังไม่ยอมย้ายออก ขอความร่วมมือให้ย้ายขึ้นสู่บ้านมั่นคง มีบ้านเป็นของตนเอง ไม่ต้องรุกล้ำคลอง มีที่พักอาศัยมั่นคงขึ้น สามารถทำเขื่อนให้แล้วเสร็จได้ก็จะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งได้มีการหารือกับทาง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ในการสร้างบ้านมั่นคงรองรับผู้รุกล้ำให้ย้ายมาอยู่บ้านมั่นคง
สำหรับค่าฝุ่นช่วงนี้อากาศปิด อาจมีฝุ่นบ้าง การใส่หน้ากากอนามัยสามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง ถ้าใส่ 2 ชั้นก็จะป้องกันได้ดีขึ้น คาดว่าน่าจะดีขึ้นภายใน 1-2 วันนี้ อย่างไรก็ตามมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาต่อเนื่อง ปัจจุบันในพื้นที่ยังไม่มีการเผาชีวมวล คาดว่าเป็นเพราะสภาพอากาศ ก็จะค่อยๆ ดีขึ้น
สำหรับกรณีข้อร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาหญ้าและคุณภาพน้ำในสวนเบญจกิตินั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชี้แจงว่า “ในเรื่องของสวนป่าเบญจกิติ กทม. ได้สอบถามผู้รู้ทำให้ทราบว่าสวนป่าเบญจกิติมีสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย การที่มีหญ้าแห้งหญ้าตายเป็นเรื่องปกติ ทางผู้เชี่ยวชาญแจ้งว่าเป็นเรื่องธรรมดา ในส่วนของเรื่องน้ำ เนื่องจากน้ำในสวนมาจากคลองไผ่สิงโต และคุณภาพน้ำในคลองไผ่สิงโตยังมีปัญหาอยู่มาก แต่ได้กำชับให้ดูแลคุณภาพน้ำในคลองให้ดีแล้ว ต้องขอบคุณประชาชนที่ได้ติชมกันมา ซึ่งกทม.จะเร่งรัดแก้ไขต่อไป”
(ชลธิชา/พัทธนันท์…สปส. รายงาน)
วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2566
Home
กรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าฯสัญจรสำนักการระบายน้ำ สั่งการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและเร่งแก้ปัญหาน้ำเสียในพื้นที่...G
ผู้ว่าฯสัญจรสำนักการระบายน้ำ สั่งการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและเร่งแก้ปัญหาน้ำเสียในพื้นที่...G
Tags
# กรุงเทพมหานคร
Share This
About MSK-NEWS
กรุงเทพมหานคร
ป้ายกำกับ:
กรุงเทพมหานคร
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
Author Details
สื่อมวลชนหัวใจยุติธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น