นายอนุกูล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อการเรียนรู้ การบริการวิชาการ การบริการสังคม การบริการสุขภาพ การพัฒนาระบบงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้ที่พึ่งและผู้ทำการขอทาน งานอาสาสมัครเพื่อ การพัฒนา งานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน และงานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.)
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ กระทรวง พม. เป็นหน่วยงานหลักของภาครัฐในการพัฒนาสังคมและการพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงกลุ่มเปราะบาง ตั้งแต่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง และผู้โอกาสในสังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามนโยบายของรัฐบาล ร่วมกับ มธ. ที่มีปณิธานมุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน” จัดโครงการอบรมอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ใหม่ กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 จำนวน 750 คน เพื่อส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและการจัดสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองสวัสดิภาพและการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเปราะบาง รวมถึงผู้ประสบปัญหาสังคมหรือภาวะยากลำบาก ซึ่ง อพม. นับเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งของกระทรวง พม. และเป็นกลไกภาคประชาชนที่มีบทบาทสำคัญต่อการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้ได้รับบริการและสิทธิสวัสดิการสังคมของรัฐ เพื่อให้ผ่านพ้นสภาพปัญหาและสภาวะยากลำบาก นำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไป
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่จะมาเป็น อพม. ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาสังคม และการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานตามภารกิจของกระทรวง พม. ได้ และช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือจะต้องเป็นผู้ที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่ ตามคำขวัญของ อพม. ที่ว่า "อพม. หัวใจผู้ให้" ทุ่มเท เสียสละ โดยไม่ได้มุ่งหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งนี้ อพม. จะเป็นพลังทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ เพื่อให้คนไทยทุกคนมีจิตสำนึกร่วมกันในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ และพัฒนาประเทศชาติไปด้วยกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น