เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 เวลา ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านดิจิทัล ระหว่าง นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับ ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาดิจิทัล และ ดร.นรัตถ์ สาระมาน นายกสมาคมอุตสาหกรรมชอฟต์แวร์ไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานด้านดิจิทัลให้เป็นแรงงานคุณภาพ
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมอแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้บูรณาการร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมชอฟต์แวร์ไทย และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาดิจิทัล ในการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีโดยตลอด ในปี พ.ศ. 2565 ได้ร่วมมือกันจัดฝึกอบรมด้านดิจิทัลไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 306 คน และในปี 2566 มีแผนการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายกลุ่มแรกคือการพัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่ เจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กลุ่มผู้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรต้นแบบเพื่อให้ขยายผลองค์ความรู้ไปสู่แรงงานในแต่ละพื้นที่ต่อไป เริ่มต้นด้วยการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น หลักสูตร Business Analytics Intermediate (DDF Action) หลักสูตร Java Spring Boot from basic to advanced หลักสูตร React web and mobile เป็นต้น อย่างน้อย 3 หลักสูตรต่อปี เพื่อนำไปใช้จัดฝึกอบรมให้แก่แรงงาน ร่วมกันจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านดิจิทัลให้แก่วิทยากรต้นแบบ จำนวน 2 หลักสูตรต่อปี จัดทำสื่อวิดีโอออนไลน์และจัดฝึกอบรมผ่านแพลตฟอร์ม DSD Online Training พร้อมทั้งออกวุฒิบัตรออนไลน์ให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมด้วย ซึ่งระหว่างวันที่ 16 – 18 และ 24 ธันวาคม 2565 นี้ ได้จัดฝึกอบรมนำร่องหลักสูตรการพัฒนาโปรแกรมเชิงวัตถุด้วยภาษา Java ระยะเวลาการฝึก 30 ชั่วโมง โดยอบรมแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom การดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น เป็นการบูรณาการตามนโยบายของรัฐบาล การก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล และแนวทางการดำเนินงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายสุชาติ ชมกลิ่น) เพื่อขับเคลื่อนการให้บริการแก่ประชาชน
ด้านของดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาดิจิทัล กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลนิธิ และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ร่วมสนับสนุนวิทยากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับดิจิทัล เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้สามารถนำไปใช้ในการทำงาน เช่น หลักสูตร Computer Essentials/Online Essential การจัดหมวดหมู่และจัดเก็บระบบอีเมลได้ การรู้จักรักษาความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต การใช้เครื่องมือในการประชุมออนไลน์ การใช้เครื่องมือในการสร้างสื่อการเรียนรู้อย่างง่าย เป็นต้น อย่างน้อย 1 หลักสูตรต่อปี
ส่วนของดร.นรัตถ์ สาระมาน นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวเสริมว่า เมื่อแรงงานได้รับการพัฒนามีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงานได้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ที่ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ สามารถรองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต สอดคล้องกับแผนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น