นายจุติ กล่าวว่า กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักของภาครัฐในการเสริมพลังสตรีและส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ด้วยการขับเคลื่อนนโยบายการเสริมพลัง (Empowerment) การพัฒนาทักษะ (Upskill) และเพิ่มศักยภาพของสตรีให้มีความมั่นใจในการเข้ามามีบทบาทหน้าที่และมีส่วนร่วมทางการบริหารและการตัดสินใจในระดับต่างๆ ทั้งนี้ จึงได้กำหนดจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมสถานภาพการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจของสตรี รุ่นที่ 1 เพื่อส่งเสริมให้สตรีมีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักในบทบาทหน้าที่ และเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในสังคม อันก่อให้เกิดกลไกสำคัญในการสร้างสังคมเสมอภาคและสร้างการมีส่วนร่วมของสตรีในการจัดทำนโยบายและมาตรการของรัฐบาล รวมทั้งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่มีความสมดุล นำไปสู่สังคมและประเทศที่มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ สังคมไทยมีปัญหาอย่างมาก ซึ่งมีจำนวนครอบครัวที่มีปัญหาคิดเป็นร้อยละ 15 ของครอบครัวทั้งประเทศ และมีจำนวนสตรีคิดเป็นร้อยละ 51 ของประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น สตรีควรเข้ามามีบทบาทในการซ่อม สร้าง เสริมสังคมให้เข้มแข็ง ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ได้ทำโมเดลไว้และพบว่า สตรีที่มีการรับรู้ และได้รับการส่งเสริมศักยภาพ การแสดงออก นั้น จะมีความกล้าเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งสตรีในจังหวัดพิษณุโลกที่ผ่านการอบรมลักษณะใกล้เคียงนี้ ได้มีการกลับเข้าไปสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน ถึงแม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จทุกคน แต่จะเห็นได้ว่าสตรีกล้าเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้นหลายเท่า ซึ่งต่อไป เราจะทำเป็นโครงการแม่ไก่ ขยายต่อยอดไปยังภาคกลางและภาคใต้ ทั้งนี้ หากสตรีได้มีโอกาสเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการกำหนดชี้ชะตาประเทศมากขึ้น เชื่อว่าประเทศไทยจะไปได้ไกลกว่านี้แน่นอน
สำหรับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมสถานภาพการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจของสตรีรุ่นที่ 1 มีการปาฐกถาพิเศษเรื่อง "บทบาทของสตรีกับการส่งเสริมสถานภาพการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจในระดับประเทศ" โดย นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา และการบรรยายเรื่อง "การเสริมสร้างพลังศักยภาพสตรีเพื่อพัฒนาชุมชน" โดย อาจารย์ชมภพูนุท นาครทรรพ รวมทั้งการให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของสตรีในหัวข้อ 1) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ 2) จิตสำนึกสาธารณะและการเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ของสตรี 3) การมีส่วนร่วมและการตัดสินใจของสตรีเพื่อการมีชีวิตที่ดีในสังคม 4) บทบาทและความสำคัญของสตรีในการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจ 5) กฎหมายที่สตรีควรรู้เพื่อการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจทางสังคม และ 6) การส่งเสริมและสนับสนุนให้สตรีมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางสังคม โดยคณะวิทยากรจากสมาคมส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น