เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.65 ณ อาคารรัฐสภา สัปปายะสถาน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “ปีใหม่ ดื่มไม่ขับ ลดเร็ว สวมหมวก ลดสูญเสีย ข้ามทางม้าลายปลอดภัย” เพื่อมุ่งเน้นให้บุคลากรรัฐสภาและประชาชนทั่วไป ตระหนักถึงการใช้รถใช้ถนน สร้างความร่วมมือกับรัฐสภาต้นแบบองค์กรดื่มไม่ขับ โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธี ภายในงานมีเสวนา “สานพลัง” มาตรการองค์กรเพื่อความปลอดภัย ปีใหม่ 2566 ประกอบด้วย นายนิกร จำนง รองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม คนที่ห้า ในฐานะประธานเครือข่ายสมาชิกรัฐสภาด้านความปลอดภัยทางถนนภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส.นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดกิจกรรม และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “หัวข้อบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติในการผลักดันนโยบายลดอุบัติเหตุ” ใจความว่า หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติได้มีการออกกฎหมายที่สำคัญ โดยล่าสุด พ.ร.บ.ที่ออกจากรัฐสภา คือ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้ วันที่ 6 กันยายน 2565 และเริ่มใช้ในช่วงต้นเดือนมกราคมนี้ สาระสำคัญที่ออกพ.ร.บ.ฉบับนี้ มาจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ ที่มีสาเหตุมาจากการที่ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัยในการจราจรทางบก จึงต้องปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพจริงในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และให้การป้องกันการกระทำความผิดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสมจะเป็นการลดอุบัติเหตุทางถนน และส่งเสริมให้ความเกิดความสะดวกความปลอดภัยในการจราจรทางบก
นายชวน กล่าวย้ำว่าเรื่องวินัยการขับขี้ถือเป็นเรื่องสำคัญในการแก้ไขปัญหา ครั้งหนึ่งไทยเคยติดอันดับต้นๆของโลกในเรื่องอุบัติเหตุ เพราะคนขาดวินัยทางจารจรแต่ปัจจุบันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงตามลำดับ จึงขอให้ สสส.ทำงานร่วมกับภาคีต่างๆขอให้มีการอบรมให้ความรู้เพื่อให้มีวินัยในการขับขี่ รวมทั้งการเคารพกฎจราจร เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุ ขอฝากให้ สสส.รณรงค์เรื่องดังกล่าวตลอดทั้งปี โดยไม่เน้นเฉพาะเทศกาล
นายนิกร จำนง รองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม คนที่ห้า ในฐานะประธานเครือข่ายสมาชิกรัฐสภาด้านความปลอดภัยทางถนนภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ได้กล่าวถึงสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยในปัจจุบันว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่เกิดกับคนที่อยู่วัยแรงงาน และเยาวชน 1ใน 3 เกิดกับคนที่มีอยุต่ำกว่า 25 ปี ในบรรดาคนที่เกิดอุบัติเหตุจนพิการเกือบครึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว ดังนั้นอุบัติเหตุมีผลกระทบมหาศาล จึงต้องชวนหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะภาคีด้านนโยบายอย่างรัฐสภามาร่วมรณรงค์เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ส่วน 7 วันอันตราย เป็นโครงการที่ผลักดันมานาน โดยแต่ละปีต้องมียาปฏิชีวนะหรือนโยบายใหม่เสมอ เช่น เปลี่ยนเป็นเมาไม่ขับ เป็นดื่มไม่ขับ หลักการนี้คือยาใหม่ที่ใช้ได้ผลทุกปี แต่ปีนี้คนเดินทางกันเยอะกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถ้าไม่มียาใหม่มารณรงค์จะอันตรายมาก
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวถึงความสำคัญของการลดอุบัติเหตุจากการข้ามทางม้าลายว่า ความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ไทยและสมาชิก UN ทั่วโลกมีข้อผู้พันธ์ร่วมกันตั้งแต่ปี 2564 ที่จะทำเรื่องลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้เป็นนโยบายหลักของทุกประเทศร่วมกัน โดยมีเป้าหมายลดให้ได้ครึ่งหนึ่งภายใน 10 ปี (2554-2563) หรือเรียกว่าทศวรรษของความปลอดภัย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ถ้ารวมทั้งโลกคนที่เสียชีวิตบนท้องถนนมีจำนวนถึง 1,3000,000 คน เฉลี่ยอายุ 25-60 ปี TDRI เคยประเมินไว้ว่าการเสียชีวิตบนท้องถนนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจำนวน 5 แสนล้านบาท/ปี ตรงนี้เป็นประเด็นที่หลายหน่วยงานต้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหา สสส. สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา จากการทำงานร่วมกันได้ข้อสรุปว่า ลำพังหน่วยงานภาครัฐไม่อาจขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในทศวรรษที่ 2 ของความปลอดภัยได้ เนื่องจากปีนี้เปิดประเทศทำให้ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากปี 2563และ2564 เป็นโจทย์ที่ท้าทาย ทำให้ต้องมีการสานพลังกันร่วมรณรงค์ลดอุบัติเหตุ“วุฒิสภา เป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติภายให้ระบบสองสภา เราทำงานกับสภาผู้แทนราษฎรอย่างใกล้ชิด มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การนำไปสู่การลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในไทย สิ่งที่อยู่ในแผนงานของเราในปี 2566 คือการขับเคลื่อนจักรยานยนต์ปลอดภัย เป็นแนวคิดเชื่อมโยงการสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อสานพลังช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ นอกเหนือจากการสื่อสารสังคมโดยตรงส่วนหนึ่งที่จะทำให้พลังเกิดเป็นจริงได้ คือ การสร้างองค์กรต้นแบบ โดยเริ่มจาก สำนักงานสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานวุฒิสภา โจทย์คือทำอย่างไรให้ข้าราชการทั้งสองสภาเป็นผู้ที่มีวินัยและเป็นต้นแบบให้สังคมได้ ถ้าท่านฝ่าฝืนกฎจราจรจะโดยถูกตัดคะแนนและถูกบันทึกข้อมูลประวัติความประพฤติ ถ้าทำได้ตรงนี้จะเป็นมาตรการทางสังคมที่สามารถควบคุมความประพฤติคนในองค์กรได้”นายสุรชัยกล่าว
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีส่วนร่วมรณรงค์ลดอุบัติเหตุร่วมกับ สสส.ในเชิงนโยบายโดยให้บุคคลกรกว่า 3,000 คนช่วยเป็นแกนนำในการขับเคลื่อน ผ่าน 3 ผสาน คือ พลังปัญญา พลังนโยบาย และพลังสังคม เราสนับสนุนด้านพลังปัญญาผ่าน กมธ. 35 คณะที่ลงพื้นที่นำองค์ความรู้ไปปลูกฝังให้คนในพื้นที่โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เป็นการสนับสนุนข้อมูลเชิงนโยบาย ยิ่งขยายวงกว้างองค์ความรู้จะมุ่งสู่กลุ่มคนที่เราอยากสื่อสาร นอกจากนี้สนง.เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นพลังสังคมเป็นเครือข่ายของ สสส. ทำงานในเชิงป้องกัน สร้างองค์ความรู้ให้แก่บุคลากร เมื่อบุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีจะสามารถสนับสนุนงานด้านนิติบัญญัติช่วยขับเคลื่อนในเรื่องที่ สสส.พยายามผลักดันได้ ดังนั้นจึงอยากฝากท่านที่เดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ให้เตรียมร่างกายเตรียมรถยนต์ให้พร้อม รวมถึงนำองค์ความรู้ด้านการลดอุบัติเหตุไปใช้ และคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้ท้องถนนด้วย
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าวว่า การสร้างความปลอดภัยทางถนน เป็นภารกิจสำคัญที่ สสส. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม พัฒนาองค์ความรู้ ผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสนับสนุนการดำเนินงานทั้งด้านวิชาการ การขับเคลื่อนสังคม การปฏิบัติการและบูรณาการงานในระดับพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยทางถนนให้เข้มข้นมากขึ้น มีการพัฒนาข้อกฎหมายสู่การบังคับใช้อย่างจริงจัง อาทิ ร่วมพัฒนาแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2565 – 2570 ภายใต้ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก สนับสนุนการประกาศใช้เป้าหมายด้านความปลอดภัยทางถนน 12 ข้อ ที่มุ่งเน้นเรื่องการสวมหมวกนิรภัย การใช้เข็มขัดนิรภัย ลดความเร็ว และการแก้ปัญหาดื่มแล้วขับ รวมถึงการร่วมสนับสนุนการแก้ไข พรบ.จราจรทางบก
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า รัฐสภาเป็นหนึ่งในองค์กรที่ สสส.ชวนทำเรื่อง Happy Workplace ขณะเดียวกันเรื่องความปลอดภัยทางถนน ได้ชวนกว่า 1,000 องค์กรทั่วประเทศกวดขันดูแลการสวมหมวกนิรภัยของพนักงาน ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี รวมถึงโรงเรียนต่างๆ ที่เราเลือกให้รัฐสภาเป็นองค์กรต้นแบบสำคัญ เพราะที่นี่คือองค์กรชั้นนำองค์กรต้นแบบที่จะเป็นแบบอย่างให้องค์กรอื่นๆด้วย
“ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มีมากกว่า 3,000คน ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายของประเทศ และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ “รัฐสภา” เป็นองค์กรต้นแบบ “ดื่มไม่ขับ” เพื่อร่วมสร้างวินัยความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคม ตลอดจนเป็นการสร้างการรับรู้สู่สาธารณะให้ตระหนักถึงการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนน ที่ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มีการเดินทางท่องเที่ยว และเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก” ดร.สุปรีดา กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น