นายกรัฐมนตรียินดี WHO ประเมินไทยมีสมรรถนะตามกฎอนามัยระหว่างประเทศสูงขึ้น ยกเป็นความสำเร็จร่วมกันของคนไทย พร้อมขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมมือโชว์ศักยภาพสาธารณสุข - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

นายกรัฐมนตรียินดี WHO ประเมินไทยมีสมรรถนะตามกฎอนามัยระหว่างประเทศสูงขึ้น ยกเป็นความสำเร็จร่วมกันของคนไทย พร้อมขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมมือโชว์ศักยภาพสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) ผลการประเมินสมรรถนะหลักตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ 2548 (IHR 2005) ของคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (International Health Regulations Joint External Evaluation (IHR-JEE)) ซึ่งได้ประเมินประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 โดยไทยได้รับคะแนนเฉลี่ย 4.25 จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งนับว่ามีการพัฒนาสมรรถนะในทุกด้านที่มีผลต่อการดำเนินงานด้านสาธารณสุขที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับการประเมินครั้งแรกในปี 2560 หรือ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งได้คะแนน 3.75

ทั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกได้ชื่นชมประเทศไทย โดยเฉพาะบริหารจัดการสถานการณ์ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19 ที่ได้ดำเนินงานที่โปร่งใสมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งได้รับการสนับสนุนที่ดีเพื่อดูแลชีวิตประชาชนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยินดีที่ระดับสมรรถนะของประเทศไทยดีขึ้น และถือว่าผลที่ออกมาเป็นความสำเร็จร่วมกันของคนไทยเพราะการประเมินครั้งนี้ต้องอาศัยการร่วมกันให้ข้อมูลของทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาสังคม โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทย”น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การประเมินสมรรถนะ IHR-JEE ครั้งที่2 มีการประเมินเพื่อให้คะแนนจากทั้งหมด 56 ตัวชี้วัด ซึ่งครั้งนี้ไทยได้คะแนน 4.25 จากคะแนนเต็ม 5 เทียบกับ การประเมินครั้งแรกในปี 2560 ที่ได้คะแนนเฉลี่ย 3.75ซึ่งให้คะแนนจาก 48 ตัวชี้วัด โดยผลประเมินนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนางานสาธารณสุขของไทยตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำข้อเสนอแนะต่างๆ ไปวางแผนการปฏิบัติงาน ยกระดับขีดความสามารถในการเตรียมความพร้อมและรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ทั้งโรคติดต่อ โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ความปลอดภัยด้านอาหาร เหตุการณ์ฉุกเฉินทางเคมีและรังสี ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น