คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์งานก่อสร้างย่านสุขุมวิท - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์งานก่อสร้างย่านสุขุมวิท

เมื่อวันที่ 9 พ.ย.65 เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตวัฒนา ประกอบด้วย

ตรวจติดตามมาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 โครงการก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 32 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 หลัง ของบริษัท เจแอลเค โฮลดิ้ง จำกัด ซอยสุขุมวิท 7 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่อยู่ในแผนการตรวจตามมาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ของสำนักการโยธา เพื่อกำกับดูแลผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตหรือผู้ดำเนินการต้องไม่กระทำการใดๆ อันอาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพหรือทรัพย์สิน หากพบว่าผู้ประกอบการรายใดฝ่าฝืนการปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักการโยธาประสานสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตวัฒนา ลงพื้นที่ตรวจสอบตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง รวมทั้งมาตรการด้านความปลอดภัย การตรวจวัดควันดำรถยนต์ การล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ การติดตั้งตาข่ายคลุมอาคารป้องกันฝุ่น การพ่นฝอยละอองน้ำดักจับฝุ่นละอองและเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ พร้อมทั้งกำชับผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างให้ปฏิบัติตามแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

จากนั้นตรวจพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยทองหล่อ 15-17 เขตวัฒนา มีผู้ค้ากลางวัน วันคู่ 40 ราย วันคี่ 15 ราย ผู้ค้ากลางคืน 4 ราย รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 59 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าให้ทำการค้าในช่วงเวลาที่กำหนดโดยเฉพาะในช่วงกลางวันตั้งแต่เวลา 10.00-15.00 น. เพื่อป้องกันปัญหาจราจรติดขัด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยบนทางเท้า รวมถึงพิจารณาจัดหาพื้นที่เพื่อให้ผู้ค้าทำการค้าในจุดที่กำหนดไว้ต่อไป

ตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตวัฒนา เป็นการพัฒนารูปแบบการให้บริการของกรุงเทพมหานคร โดยนำงานบริการของ 10 ฝ่ายในสำนักงานเขต มาให้บริการรวมกันที่จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการและติดต่อราชการกับกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเขตฯ เปิดให้บริการ 6 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายรายได้ ฝ่ายคลัง ฝ่ายโยธา ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล และฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม โดยแจ้งประเภทงานที่มารับบริการตรงจุดประชาสัมพันธ์ รับบัตรคิวจากตู้ BMA Q รอเรียกเข้ารับบริการตามประเภทงานของฝ่าย หรือนัดหมายล่วงหน้าผ่าน Application BMA Q ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน จำนวนประชาชนที่มาใช้บริการในแต่ละฝ่าย ซึ่งเขตฯ มีพื้นที่ขนาดเล็กคับแคบ ไม่สามารถรองรับผู้รับบริการจำนวนมากได้ การให้บริการภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนที่มารับบริการเกิดความพึงพอใจ

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะโรงเรียนแจ่มจันทร์ ตั้งอยู่ซอยแจ่มจันทร์ ซอยเอกมัย 21 มีนักเรียน 259 คน ห้องเรียน 22 ห้อง ข้าราชการครู 15 คน บุคลากรทางการศึกษา 10 คน ประเภทขยะแบ่งออกเป็น 1.กระดาษ (เอกสาร สมุด หนังสือ) วิธีจัดการคือ กระดาษที่ใช้หน้าเดียว นำกลับมาใช้ซ้ำในผลงานนักเรียน และการจัดการเรียนการสอน กระดาษที่ใช้ครบ 2 หน้าแล้ว นำมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของ ในรายวิชาการงานอาชีพ โครงงานนักเรียน สิ่งประดิษฐ์เป็นผลงานนักเรียน และบางส่วนนำไปจำหน่าย รายได้เข้าโครงการธนาคารขยะ 2.ขวดน้ำพลาสติก ปริมาณเฉลี่ยวันละ 0.5 กก. วิธีจัดการคือ ขวดน้ำดื่มนำมาทำเป็นสื่อประกอบการเรียนการสอน และในส่วนที่เหลือทางโรงเรียนได้จำหน่าย รายได้เข้าโครงการธนาคารขยะ 3.กล่อง กระดาษลัง ปริมาณเฉลี่ยวันละ 1.3 กก. วิธีจัดการคือ กล่องหรือกระดาษลัง ที่อยู่ในสภาพที่ดีจะนำมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของในการใช้งาน เช่น กล่องใส่หนังสือของนักเรียน กล่องใส่ใบงานของครู ส่วนกล่องหรือกระดาษลังที่ขาด จะนำไปจำหน่าย 4.เศษอาหาร ปริมาณเฉลี่ยวันละ 4 กก. วิธีจัดการคือ นำเศษอาหารที่เหลือทั้งตอนเช้าและตอนกลางวัน รวมเทลงในถังแก๊สชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน รายวิชาลูกเสือ ยุวกาชาด ชมรม และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น 5.ถุงพลาสติก ถุงขนม หลอด (ขยะทั่วไป) นำมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของเหลือใช้ ในรายวิชาการงานอาชีพ ศิลปะ และโครงงานนักเรียน 6.กากน้ำมัน และน้ำมันพืชที่เหลือใช้ นำมาใส่แกลลอน เพื่อจำหน่ายรายได้เข้าโครงการธนาคารขยะ 7.ขยะติดเชื้อ (หน้ากาอนามัยหรืออุปกรณ์ทำแผล) จัดเตรียมจุดคัดแยกโดยเฉพาะ เพื่อรวบรวมส่งเขตฯ นำไปทำลาย 8.ขยะอันตราย (หลอดไฟ ขวดน้ำมันสน กระป๋องสี) จัดเตรียมจุดคัดแยกไว้ ณ สถานีคัดแยกขยะ เพื่อรวบรวมส่งเขตฯ นำไปทำลาย สำหรับปริมาณขยะก่อนดำเนินการแยกขยะ กระดาษ 3 กก./เดือน ขวดน้ำพลาสติก 10 กก./เดือน กล่อง กระดาษลัง 26 กก./เดือน เศษอาหาร 80 กก./เดือน ถุงขนมพลาสติก ถุงขนม 1.5 กก./เดือน กากน้ำมัน น้ำมันพืชเหลือใช้ 40 กก./เดือน ขยะติดเชื้อ 5 กก./เดือน ขยะอันตราย 1 กก./เดือน ปริมาณขยะหลังดำเนินการแยกขยะ กระดาษ 2 กก./เดือน ขวดน้ำพลาสติก 8 กก./เดือน กล่อง กระดาษลัง 20 กก./เดือน เศษอาหาร 50 กก./เดือน ถุงขนมพลาสติก ถุงขนม 0.5 กก./เดือน กากน้ำมัน น้ำมันพืชเหลือใช้ 35 กก./เดือน ขยะติดเชื้อ 5 กก./เดือน ขยะอันตราย 1 กก./เดือน โดยเขตฯ เข้าจัดเก็บขยะ 7 ครั้ง/สัปดาห์ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวชื่นชมคณะครูและบุคลากรโรงเรียนแจ่มจันทร์ ที่มีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะ รวมถึงการนำเศษอาหารมาผลิตเป็นแก๊สไว้ใช้ประกอบอาหารในโรงเรียน โดยมอบหมายให้เขตฯ นำไปเป็นโรงเรียนต้นแบบเพื่อส่งเสริมการคัดแยกขยะแก่โรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่ต่อไป

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตวัฒนา สำนักเทศกิจ สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม คณะครูและบุคลากรโรงเรียนแจ่มจันทร์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น