พม. จับมือ กษ. ลงนาม MOU เสริมสร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

พม. จับมือ กษ. ลงนาม MOU เสริมสร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง


เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 65 เวลา 14.00 น. นาวาตรีสุธรรม ระหงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง ระหว่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยมีนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และนางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมลงนาม นอกจากนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ภายในงาน ได้แก่ นิทรรศการสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง คลินิกให้ความรู้ คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง เวทีเสวนาทิศทางการบริหารชุมชนด้วยระบบสหกรณ์และบทบาทการสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การแสดงสินค้าชุมชนและการสาธิตฝึกอาชีพต่างๆ ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรุงเทพฯ


นาวาตรีสุธรรม กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 - 2579 ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน มีสภาพแวดล้อมที่ดี อีกทั้งสร้างโอกาสในการเข้าถึงระบบการเงินและสินเชื่อเพื่อการอยู่อาศัย และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับ เพื่อนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้มอบหมายให้ พอช. รับผิดชอบดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส จำนวน 1,053,702 ครัวเรือน ภายใต้ 4 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการบ้านมั่นคง 2) โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง 3) โครงการบ้านพอเพียง และ 4) โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน โดยโครงการบ้านมั่นคง จำนวน 145,062 ครัวเรือน ได้นำแนวคิดและหลักการดำเนินงานของสหกรณ์มาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้สมาชิกที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของสหกรณ์ วันนี้ กระทรวง พม. โดย พอช. ร่วมกับกระทรวง กษ. โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงได้ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง นับเป็นการนำเสนอความก้าวหน้าของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศไทย และการบรูณาการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวง ตามนโยบายของรัฐบาล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายกฤษดา กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งหวังให้สมาชิกสหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพทางการเงิน การจัดทำบัญชีตามมาตรฐาน และการพึ่งพาตนเองภายใต้หลักธรรมาภิบาล ซึ่งพอช. มีขอบเขตความร่วมมือในการดำเนินการ ดังนี้ 1) รวมคนที่มีความประสงค์จะจัดตั้งสหกรณ์โดยรวมเป็นกลุ่มออมทรัพย์ก่อน พร้อมทั้งให้ความรู้การดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์ ศึกษาดูงานสหกรณ์ต้นแบบ และร่วมกับสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ให้ความรู้กับสมาชิกเรื่องการบันทึกบัญชีจนสามารถจัดทำงบการเงินได้ และแจ้งเรื่องสิทธิในที่ดินภายใต้โครงการบ้านมั่นคงแบบแปลงรวมโดยไม่สามารถแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นรายบุคคลได้ 2) ร่วมกำหนดแนวทางในการปรับปรุงคู่มือการจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ตามโครงการบ้านมั่นคง 3) ดำเนินการและสนับสนุนการจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้สหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง มีความเข้มแข็ง มีระบบบริหารจัดการที่ดี และสามารถดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาล

นายกฤษดา กล่าวเพิ่มเติมว่า 4) ผลักดัน สนับสนุน ให้สหกรณ์ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงมีหรือจัดจ้างพนักงานจัดทำบัญชีของสหกรณ์ และร่วมให้ความรู้ในด้านการจัดทำบัญชีสหกรณ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด 5) ร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อสนับสนุน แก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาการดำเนินงานของสหกรณ์ที่มีปัญหา 6) ประชุมร่วม 3 หน่วยงาน ภายใต้บันทึกข้อตกลงร่วมมือ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง รวมถึงติดตามและรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 7) ร่วมส่งเสริม สนับสนุน และประชาสัมพันธ์ ให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการ ดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ในชุมชนตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาล และ 8) มีแผนการปฏิบัติงานร่วมกันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ชัดเจน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น