รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าฯในพื้นที่เขตมีนบุรี - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าฯในพื้นที่เขตมีนบุรี

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.65 เวลา 09.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตมีนบุรี ประกอบด้วย

ติดตามการตรวจวัดควันดำรถโดยสารประจำทางและรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ บริเวณอู่มีนบุรี ซึ่งสำนักงานเขตมีนบุรี ร่วมกับเขตการเดินรถที่ 2 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง โดยเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน โดยอู่มีนบุรีได้กำหนดค่าควันดำที่ตรวจวัดได้จะต้องไม่เกิน 25% (ค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30%) เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ ลดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สำหรับค่ามาตรฐานควันดำ ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการ แพลนท์ปูน สถานที่ก่อสร้าง และตรวจวัดควันดำที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริเวณชุมชนสุกกาทอง โครงการ 2 ซอยราษฎร์อุทิศ 70 ซึ่งเป็นชุมชนขนาดเล็ก มีบ้านเรือน 193 หลังคาเรือน ประชากร 1,289 คน ประธานชุมชนเป็นผู้นำในการคัดแยกขยะ และจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน โดยเขตฯ จัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ สำหรับภายในศูนย์ฯ จะมีผังรูปแบบการจำแนกขยะ การนำขยะไปใช้ประโยชน์ มีตัวอย่างที่ใช้เป็นต้นแบบ เพื่อให้คนในชุมชนนำไปประยุกต์ใช้ เช่น น้ำหมักชีวภาพที่ได้จากเปลือกผลไม้ ปุ๋ยหมักจากเศษกิ่งไม้ ใบไม้ หรือเปลือกผลไม้ นำเศษอาหารไปเลี้ยงไก่ เลี้ยงนกกระทา เลี้ยงปลาดุก นำวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นสิ่งของ จัดให้มีธนาคารขยะ นำขยะที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้มารวบไว้เพื่อนำไปขายให้ผู้รับซื้อ โดยนำเงินที่ได้เป็นสวัสดิการช่วยเหลือยามจำเป็นแก่คนในชุมชน มีการแปรรูปน้ำมันพืชใช้แล้วนำมาทำสบู่ซักผ้า จัดตลาดนัดชุมชนรีไซเคิลเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการนำขยะมาใช้ใหม่ สำหรับปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ เศษอาหาร (นำไปเลี้ยงสัตว์) 150 กก./เดือน เศษผัก/ผลไม้ (ทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำหมัก) 120 กก./เดือน ขยะรีไซเคิล (ตลาดนัดและร้านรับซื้อของเก่า) 3,970 กก./เดือน ธนาคารขยะ (81 ราย) 1,850 กก./เดือน ขยะอันตราย (ก่อนจัดกิจกรรม 30 กก./เดือน) 25 กก./เดือน ขยะทั่วไป (ก่อนจัดกิจกรรม 8 ตัน/เดือน) 4.5 ตัน/เดือน เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่เข้าเก็บขยะ 1 ครั้ง/สัปดาห์ โดยรองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวขอบคุณชาวชุมชนสุกกาทอง โครงการ 2 ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะ ซึ่งสามารถสร้างรายได้แก่ครอบครัวและส่วนหนึ่งยังเป็นสวัสดิการช่วยเหลือชาวชุมชนด้วยกัน โดยให้เขตฯ นำไปเป็นชุมชนต้นแบบในการแยกขยะระดับเขตแบบสมบูรณ์ครบวงจรและต่อยอดไปยังชุมชนอื่นในพื้นที่ต่อไป

ตรวจพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณถนนหทัยราษฎร์ ทั้งนี้เขตมีนบุรี ไม่มีพื้นที่ทำการค้าและผู้ค้าในจุดผ่อนผัน ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวนทั้งสิ้น 11 จุด มีผู้ค้า 117 ราย ได้แก่ 1.ถนนร่มเกล้า 5 ราย 2.ถนนนิมิตใหม่ 1 ราย 3.ถนนรามคำแหง 10 ราย 4.ถนนราษฎร์อุทิศ 8 ราย 5.ถนนสามวา 8 ราย 6.ถนนสีหบุรานุกิจ 25 ราย 7.ถนนสุวินทวงศ์ 25 ราย 8.ถนนหทัยราษฎร์ 30 ราย 9.ถนนประชาร่วมใจ 1 ราย 10.ถนนหม่อมเจ้าฯ 3 ราย และ 11.ถนนบึงขวาง 1 ราย ส่วนแนวทางการเตรียมพื้นที่ทำการค้า เพื่อแก้ไขปัญหาหาบเร่-แผงลอย โดยจัดสถานที่รองรับให้ทำการค้าในที่เอกชนและสถานที่ที่เหมาะสม ซึ่งเขตฯ ได้จัดหาที่เอกชนเรียบร้อยแล้ว จำนวน 2 แห่ง คือ 1.ตลาดมีนบุรี รองรับผู้ค้าได้ 60 ราย ทำการค้าทุกวัน ราคาแผง 20 บาท/วัน ทำการค้าตั้งแต่เวลา 05.00-20.00 น. 2.ตลาดปากซอยถนนหทัยราษฎร์ รองรับผู้ค้าได้ 200 ราย ราคาแผง 100 บาท/วัน ทำการค้าได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 16.00-21.00 น. สำหรับพื้นที่ที่จะเสนอเป็นพื้นที่ทำการค้า คือ หน้าห้างบิ๊กซีรามคำแหง ตั้งแต่ทางเข้าห้างโลตัส ถึงป้ายรถโดยสารหน้าห้างบิ๊กซี ถนนรามคำแหง รองรับผู้ค้าได้ 42 ราย ทำการค้าตั้งแต่เวลา 16.00-20.00 น. อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันถนนรามคำแหงอยู่ระหว่างการใช้พื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการฯ ยังไม่คืนพื้นที่ กำหนดแล้วเสร็จประมาณปี 2567
จุดเสี่ยงภัยบริเวณทางเดินเลียบคลองเจ๊ก ถนนสีหบุรานุกิจ ซึ่งในพื้นที่เขตฯ มีจุดเสี่ยงภัยต่อการเกิดอาชญากรรม จำนวน 7 จุด ได้แก่ 1.ทางเดินเลียบคลองเจ๊ก 2.สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 3.หน้าวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี 4.ทางเดินริมคลองบึงขวาง 5.หน้าโรงเรียนมีนบุรี 6.หน้าโรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน และ 7.ปากซอยราษฎร์อุทิศ 7/1 สำหรับจุดเสี่ยงบริเวณทางเดินเลียบคลองเจ๊ก ถนนสีหบุรานุกิจ เขตฯ ดำเนินการติดตั้งตู้เขียว จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตราและลงชื่อในสมุดตรวจ วันละ 3 ครั้ง ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ “พื้นที่เฝ้าระวัง ดูแลรักษาความปลอดภัย” ติดตั้งกล้องวงจรปิด จำนวน 5 ตัว ติดตั้งหลอดไฟพร้อมแผงโซล่าเซลล์ จำนวน 2 จุด รวมถึงติดตั้งตู้แดงของสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี ส่วนอีก 6 จุด เขตฯ ได้ติดตั้งตู้เขียว พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตราและลงชื่อในสมุดตรวจ วันละ 3 ครั้ง

ตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตมีนบุรี เป็นการพัฒนารูปแบบการให้บริการของกรุงเทพมหานคร โดยนำงานบริการของ 10 ฝ่ายในสำนักงานเขต ได้แก่ ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายปกครอง ฝ่ายรายได้ ฝ่ายการคลัง ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายโยธา ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ มาให้บริการรวมกันที่จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการและติดต่อราชการกับกรุงเทพมหานคร โดยแจ้งประเภทงานที่มารับบริการตรงจุดประชาสัมพันธ์ รับบัตรคิวจากตู้ BMA Q รอเรียกเข้ารับบริการตามประเภทงานของฝ่าย หรือนัดหมายล่วงหน้าผ่าน Application BMA Q ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน จำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ฝ่าย ระยะเวลาในการให้บริการ เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้

พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซึ่งเขตฯ มีสวนสาธารณะเดิม ที่จะพัฒนาและปรับปรุงให้มีความร่มรื่นสวยงาม จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ถนนสีหบุรานุกิจ พื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน 40.94 ตารางวา โดยปรับปรุงพื้น ทาสี ซ่อมแซมคันหิน ปลูกต้นไม้ ตัดแต่งต้นไม้ให้สวยงามยิ่งขึ้น และสวนมีนบุรีภิรมย์ (หลังโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ถึงบกน.3) พื้นที่ 3 ไร่ โดยถมดิน ปลูกต้นไม้ ออกแบบสวนสาธารณะและทางเดินลู่วิ่ง สวนรมณีย์ (ภายในสำนักงานเขตมีบุรี) พื้นที่ 3 งาน 32 ตารางวา ปลูกต้นทองอุไร 20 ต้น ต้นเฟื่องฟ้า 200 ต้น ทำทางเดิน-วิ่ง และจัดทำที่นั่งพักผ่อน สำหรับประชาชนที่มาติดต่อราชการ นอกจากนี้ยังมีสวนสาธารณะที่จะก่อสร้างใหม่ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณซอยบึงขวาง 12 พื้นที่ 13 ไร่ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของเอกชน ระยะเวลาที่ให้ใช้ยังไม่ได้กำหนดในสัญญา และสวนบริเวณที่ว่างใต้ทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู ถนนรามคำแหง พื้นที่ 4 ไร่

ถนนสวย (ปลูกต้นไม้ 1 ถนน 1 เขต) ถนนเสรีไทย เขตมีนบุรีดำเนินการร่วมกับเขตบึงกุ่มและเขตคันนายาว ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อ ความยาวถนน 2.9 กิโลเมตร พื้นที่ปลูกต้นไม้ 4,000 ตารางเมตร ต้นไม้ที่มีอยู่เดิม ได้แก่ ต้นประดู่ 84 ต้น ต้นทองอุไร 2,500 ต้น ต้นไทรย้อยใบแหลม 26 ต้น ต้นเฟื่องฟ้า 30,000 ต้น ต้นชาฮกเกี๊ยน 25,000 ต้น ต้นพิกุล 50 ต้น ส่วนต้นไม้ที่จะปลูกเพิ่ม ได้แก่ ต้นทองอุไร 500 ต้น ต้นเฟื่องฟ้า 500 ต้น

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตมีนบุรี เขตการเดินรถที่ 2 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ชาวชุมชนสุกกาทอง โครงการ 2 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น