ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า กรุงเทพมหานครต้องเอาตรงนี้มาขยายต่อ สร้างอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง เรามีลิตเติ้ลอินเดีย มีไชน่าทาวน์ เราผสมผสานให้ทุกคนอยู่ด้วยกันได้ เราเชื่อว่าสามารถทำ “ดิวาลี” ให้เป็นเทศกาลประจำปีเพื่อให้เรามาเฉลิมฉลองกันได้ เราต้องมีเทศกาลแบบนี้บ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ให้พี่น้องที่ทำมาค้าขายสามารถขายได้ ไม่ใช่เฉพาะพี่น้องเชื้อสายอินเดีย แต่ทุกคนแถวนี้จะขายอะไรก็ขายได้ เราก็ดึงดูดคนมาเดินเล่น มาพบปะกัน สร้างบรรยากาศดี ๆ ความสดชื่น รอยยิ้ม และเศรษฐกิจให้กลับคืนมา กระตุ้นการใช้จ่าย เป็นจุดรวมใจ รวมวัฒนธรรมของเราไว้ที่นี่ ซึ่งรัฐบาลได้ทำคลองโอ่งอ่างไว้แล้ว เราก็ใช้คลองโอ่งอ่างให้เป็นประโยชน์
“ต้องขอขอบคุณผู้จัดงานทุกฝ่าย กทม.เป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวก งานนี้สำเร็จได้เพราะพี่น้องไทยเชื้อสายอินเดียทั้งหลายที่ร่วมมือกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และจัดงานได้อย่างสมศักดิ์ศรีมาก เดินมาก็สวยงาม มีร้านอาหารมากมาย ขอให้จับจ่ายใช้สอยกัน หรือบอกเพื่อนให้มากันเยอะ ๆ ให้คนมากันแบบถล่มทลาย เพื่อให้ปีหน้าและปีต่อ ๆ ไป ได้จัดงานกันไปทุกปี ให้มีเทศกาลแบบนี้หลาย ๆ พื้นที่ กรุงเทพฯ ก็จะกลับเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ขอบคุณและขอให้พวกเรามีความสุข Happy Deepavali ทุกคนนะครับ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย
สำหรับ “งานเทศกาลดิวาลี” หรือเทศกาลแห่งแสงสว่าง เป็นงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคนเชื้อสายอินเดีย โดยมีความเชื่อว่าเป็นเทศกาลแห่งการฉลองชัยชนะของแสงสว่างเหนือความมืด ความรู้เหนือความเขลา และความดีเหนือความชั่วร้าย ซึ่งงานเทศกาลดิวาลีเฟสติวัล กรุงเทพฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 นี้ จัดขึ้นโดยความร่วมมือของกรุงเทพมหานคร สมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย (IAT) เครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการชาวไทยเชื้อสายอินเดีย กลุ่มชาวอินเดียในประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดงานเทศกาลในย่านลิตเติ้ลอินเดีย ให้กลับมามีชีวิตชีวา มีสีสัน เป็นเทศกาลหลักประจำปีของเมืองหลวงของไทย สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวิถีชีวิตสังคม วัฒนธรรมที่หลากหลาย สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ การค้า ภาคประชาชนในย่าน และเพื่อให้ย่านลิตเติ้ลอินเดียเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักเดินทาง รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังเป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐอินเดีย ที่ครบรอบ 75 ปี ในปี พ.ศ. 2565 อีกด้วย
ผู้สนใจสามารถเที่ยวงานเทศกาลดิวาลีได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันอาทิตย์ที่ 23 ต.ค. 65 ระหว่างเวลา 11.00 – 22.00 น. ณ บริเวณย่านลิตเติ้ลอินเดีย ถนนพาหุรัด-คลองโอ่งอ่าง-สะพานเหล็ก ภายในงานพบกับกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ สักการะบูชาพระพิฆเนศ และพระแม่ลักษมี เสริมดวงชะตา โชคลาภ เพิ่มความสำเร็จให้ชีวิต ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองของคนอินเดีย แสง สี เสียง สไตล์บอลลีวูด ชิมและชอป อาหารและสินค้าแนวอินเดียน-ไทย มหกรรมสินค้าสะพานเหล็กนานาชนิด และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย
อนึ่ง ผู้ร่วมพิธีเปิดงานเทศกาลดิวาลีเฟสติวัล กรุงเทพฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 ได้แก่ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ
อนึ่ง ผู้ร่วมพิธีเปิดงานเทศกาลดิวาลีเฟสติวัล กรุงเทพฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 ได้แก่ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางอัลปานา ดูเบ รักษาการเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย นายชวน ธากูร์ นายกสมาคมอินเดียแห่งประเทศไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายปรีชา จำปี ประธานบริษัท Destination Siam ผู้จัดงานเทศกาลดิวาลีเฟสติวัล คณะผู้สนับสนุนการจัดงาน คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ประชาชน และสื่อมวลชน #สร้างสรรค์ดี #เศรษฐกิจดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น