นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยได้ให้การรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งครบรอบ 30 ปี ในปี 2565 ซึ่งได้กำหนดให้มีพันธะผูกพันในการประกันให้เด็กทุกคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้รับการคุ้มครองในสภาพแวดล้อมแห่งความผาสุก ความรัก และความเข้าใจ ทั้งนี้ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กได้รับการเสริมพันธะสัญญาด้วยเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกรอบการพัฒนาของโลกในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยภายในปี 2573 ประเทศไทยจะยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ ความรุนแรง และการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลยังมุ่งเน้นถึงการให้ความรู้ สร้างทักษะให้เด็กและเยาวชนของประเทศ จึงเป็นที่มาของการบูรณาการงานด้านเด็กและเยาวชนในประเด็นต่าง ๆ จากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งกระทรวง พม. มีเป้าหมายที่สำคัญคือ การพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเด็กไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ทุกคนต้องมีโอกาสที่ได้รับการศึกษาที่ดี ได้รับการดูแลสุขภาพที่ดี และได้รับโอกาสในการสร้างทักษะที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเชื่อมั่นว่าการพัฒนาศักยภาพเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เป็นการสร้างรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
นายอนุกูล กล่าวต่อไปอีกว่า การสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เป็นความรับผิดชอบของทุกคนและทุกภาคส่วน หากเรามีความเชื่อเดียวกันว่าความรุนแรงต่อเด็ก เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ และความปลอดภัยสำหรับเด็ก เป็นเรื่องที่ต้องสร้างให้เกิดหลักประกันขึ้น ทั้งนี้ ตนในฐานะผู้แทนกระทรวง พม. ขอเสนอแนะให้ภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วน ร่วมมือกันดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้ 1) ร่วมกันนำนโยบายคุ้มครองเด็กไปใช้ในหน่วยงาน เพื่อให้มีนโยบาย กลไก และแนวปฏิบัติที่สร้างความปลอดภัยจากการใช้ความรุนแรงต่อเด็กในทุกสภาพแวดล้อม รวมถึงมีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อจัดการกับสถานการณ์ความรุนแรงได้ทันการณ์ 2) มีส่วนร่วมในการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านการคุ้มครองเด็กที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้างหลักประกันความปลอดภัยสำหรับเด็ก และร่วมขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่วมกันสนับสนุนช่วยเหลือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง สามารถจัดระบบและกลไกคุ้มครองเด็กขึ้นในระดับชุมชน 3) สร้างความตระหนักรู้และการสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อต่อสู้กับความรุนแรงต่อเด็ก และสร้างความปลอดภัยให้กับเด็ก 4) สนับสนุนบริการให้แก่ครอบครัว ครู ผู้ดูแลเด็กในสถานที่ต่าง ๆ ในการเลี้ยงดูและรับมือกับพฤติกรรมตามช่วงวัยของเด็กอย่างเหมาะสม จัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยภายในบริเวณโรงเรียนหรือสถานศึกษา และสร้างกฎเกณฑ์เพื่อประกันว่านักเรียนและนักศึกษาจะต้องมีความปลอดภัย 5) เสริมสร้างพลังเด็กและเยาวชนโดยผ่านสภาเด็กและเยาวชน ให้มีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก และการสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน และ 6) ร่วมกันกำหนดประเด็นสังคมไทยที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ 6 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวง พม. กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีบทบาทในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์คุ้มครองเด็กแห่งชาติลงสู่ระดับท้องถิ่น โดยประสานความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัด
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสวนาเพื่อปกป้องความรุนแรงต่อเด็ก “ซ่อม เสริม สร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก” ในวันนี้ กระทรวง พม. ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการขับเคลื่อนวาระเด็กและเยาวชนให้ชัดเจน รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมที่ส่งผลต่อเด็ก ซึ่งในเวทีเสวนาวันนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ และถือเป็นโอกาสสำคัญในการร่วมกำหนดนโยบายและแนวทางการสร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยมีเป้าหมายสำคัญที่ช่วยกันผลักดันให้ความปลอดภัยของเด็กเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งทุกคนจะร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยดีขึ้นต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น