หารือเพื่อกำหนดแนวทาง “ซ่อม เสริม สร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก” - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2565

หารือเพื่อกำหนดแนวทาง “ซ่อม เสริม สร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก”


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเสวนาและประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงาน “ซ่อม เสริม สร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก” เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 2 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์การ ยูนิเซฟประเทศไทย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (นางจตุพร โรจนพานิช) เปิดเผยข้อสรุปเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงาน เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เป็นความรับผิดชอบของทุกคน ทุกภาคส่วน และความรุนแรงต่อเด็ก เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ โดยทุกภาคส่วนจะต้องตระหนักและขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เพื่อเป็นการเน้นย้ำการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า ภายในปี 2573 ประเทศไทยจะยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ ความรุนแรง และการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก เพื่อดำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของเด็กอย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนงานร่วมกัน ดังต่อไปนี้

1.ร่วมผลักดันประเด็นการสร้างสังคมไทยที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยเสริมสร้างความร่วมมือ ผ่านการกำหนดพันธกิจ และหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การบูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในทุกระดับ โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีบทบาทนำ

2.ร่วมพัฒนายุทธศาสตร์การคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เน้นการสร้างหลักประกันความปลอดภัยสำหรับเด็ก มุ่งเน้นการดำเนินงานเชิงรุกในระดับพื้นที่และการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรบุคคลและงบประมาณที่เพียงพอต่อการดำเนินการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติการ

3.ร่วมสร้างความตระหนักรู้และการสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ภายในหน่วยงาน โดยมีการระบุปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงต่อเด็ก ศึกษาช่องว่าง และกำหนดมาตรการ กลไก เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และการพัฒนาศักยภาพแก่เจ้าหน้าที่ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เพื่อป้องกันความรุนแรงและสร้างความปลอดภัยสำหรับเด็ก

4.ร่วมสนับสนุนบริการสำหรับบุคคลแวดล้อมเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู หรือผู้ดูแลเด็ก ในการเลี้ยงดูเด็กตามช่วงวัยตามมาตรฐานขั้นต่ำ และจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก รวมถึงการสร้างเครือข่ายในระดับชุมชน เพื่อสนับสนุนให้เกิดสังคมแวดล้อมในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเชื่อมโยงบริการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

5.ร่วมสร้างพลังของเด็กและเยาวชนให้มีส่วนร่วมในป้องกันความรุนแรงและสร้างความปลอดภัยสำหรับเด็ก ผ่านการเสริมพลังอำนาจในการมีส่วนร่วมอย่างปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชน ทั้งในฐานะผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง

6.ร่วมจัดให้มีนโยบายคุ้มครองเด็กในทุกสถานที่ที่มีเด็กในการดูแล มีแนวปฏิบัติที่สร้างความปลอดภัยจากการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก และมีกลไกการจัดการกับสถานการณ์ความรุนแรงได้ทันการณ์ รวมถึงมีแผนการรับมือในภาวะฉุกเฉิน และซักซ้อมตามแผนอย่างต่อเนื่อง

7.ร่วมสร้างความตระหนักรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของสื่อสารมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มขององค์กรวิชาชีพด้านสื่อในการกำหนดมาตรการและแนวทางการสื่อสารเรื่องความรุนแรงทั้งในด้านการคุ้มครองและการป้องกันร่วมกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น