เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 65 เวลา 09.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปลัด วธ.) และนายสมบัติ ลีลาพตะ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในสื่อ โดยมีผู้แทนภาคีเครือข่ายด้านคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มชาติพันธุ์ จำนวน 80 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
นายอนุกูล กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสำนักงานปลัดกระทรวง พม. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โดยสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กำหนดจัดการประชุมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในสื่อ เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานและระดมความคิดเห็นในการหาแนวทางการส่งเสริมบทบาทกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มชาติพันธุ์ ในการบริโภคสื่ออย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งร่วมกันหาแนวทางการแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่ส่งผลต่อความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยพิจารณาทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ ใน 4 มิติรอบด้าน ได้แก่ มิติต่อตนเอง มิติสื่อ มิติสังคม และมิติภาครัฐ ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว นับเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงาน กสทช. กระทรวง พม. กระทรวง วธ. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ลงนามเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กและเยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความหลากหลายทางเพศแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบกิจการ สื่อมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มชาติพันธุ์ ถือเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านสังคมของภาครัฐในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและเสริมสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิต เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกทั้งบูรณาการความร่วมมือในการทำงานกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมทั้งสื่อมวลชน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 และสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่งในยุค VUCA World ที่สังคมโลกเต็มไปด้วยความผันผวน ไม่แน่นอน สลับซับซ้อน และคลุมเครือ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถทำงานบรรลุผลสำเร็จได้ จึงจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือขายทุกภาคส่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเปราะบางได้รู้เท่าทันสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการบริโภคสื่ออย่างสร้างสรรค์ ด้วยการใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. ได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างต่อเนื่องเสมอมา โดยมีการใช้การสื่อสารประชาสัมพันธ์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักรู้ถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ที่นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพตนเองและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งสามารถทำให้รู้เท่าทันภัยจากสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่มีความหลากหลายจำนวนมหาศาลทั้งข่าวปลอมและข่าวบิดเบือน โดยมีการพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเปราะบางซึ่งมีลักษณะเฉพาะทั้งคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มชาติพันธุ์
นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนงานสื่อสารประชาสัมพันธ์สำหรับคนพิการที่สอดคล้องกับประกาศ กสทช. เรื่อง แนวทางการจัดทําล่ามภาษามือ คําบรรยายแทนเสียง และเสียงบรรยายภาพสําหรับการให้บริการโทรทัศน์ ตามประกาศคณะกรรมการ กสทช. เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของประเภทสื่อและเนื้อหา (Content) สำหรับคนพิการแต่ละประเภทในการ เข้าถึง เข้าใจ และนำไปใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น