สสส. – กทม. สานพลังภาคีเครือข่าย ขยายห้องเรียนสู้ฝุ่น ปั้น 34 โรงเรียนต้นแบบ เตรียมพร้อมรับมือฝุ่น PM2.5 ในเมืองกรุง - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2565

สสส. – กทม. สานพลังภาคีเครือข่าย ขยายห้องเรียนสู้ฝุ่น ปั้น 34 โรงเรียนต้นแบบ เตรียมพร้อมรับมือฝุ่น PM2.5 ในเมืองกรุง




 “เรื่องฝุ่นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ และมีผลระยะยาว เริ่มจากห้องเรียนเป็นสิ่งที่ดี ผมว่ามี 2 มิติ มิติแรกคือ เด็กเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นมากที่สุด ถ้าเขาเอาฝุ่นเข้าไปในปอดมันจะอยู่กับเขาไปนานจนโต อย่างพวกเราแก่แล้วเหลือเวลาไม่เยอะแล้ว อาจจะไม่ได้มีผลมาก ฉะนั้น ต้องให้ข้อมูลพื้นฐานกับเขา เพราะต่อไปเขาต้องอยู่ในเมืองนี้ มิติที่สอง คือ เด็กเป็นคนสำคัญที่จะเผยแพร่ความรู้ต่อให้ครอบครัว ต้องขอบคุณทางอาจารย์ด้วย ผมว่าตรงนี้คือสิ่งสำคัญเป็นการเรียนรู้ในชีวิตจริงมาสอนให้กับเด็ก ซึ่งคงไม่ได้หยุดแต่เพียงเท่านี้ การให้เด็กมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งจะได้ขยายผลให้ครบทุกโรงเรียน เพื่อให้เกิดผลอย่างแท้จริง” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในพิธีเปิดโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันนี้ (28 ต.ค. 65) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร




สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ-ThaiPBS สำนักการศึกษา และห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม จัดกิจกรรมเปิดตัวและอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” เพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยมีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 33 โรงเรียน และโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 1 โรงเรียน เข้าร่วม รวม 34 โรงเรียน



โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. ได้มอบเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 แก่สถานศึกษาต้นแบบ นำไปติดตั้งใช้วัดค่าฝุ่นในแต่ละพื้นที่แบบ Real Time เพื่อให้นักเรียนสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างถูกต้อง สำหรับกิจกรรมในวันนี้จะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านฐานกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สู้ภัยฝุ่นในโรงเรียน สร้างพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) เพื่อให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในสถานการณ์วิกฤตและสามารถป้องกันตัวเองอย่างปลอดภัย



ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า จากความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทุกช่วงวัยทั้งในพื้นที่กรุงเทพและหลายจังหวัด โดยมีแหล่งกำเนิดและช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเพิ่มโอกาสเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDS โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก เยาวชน หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย สำหรับพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล พบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือน พ.ย. – มี.ค. ของทุกปี ซึ่ง สสส. ได้สานพลังทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง

โดยโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เป็นการสร้างองค์ความรู้ด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงผ่านการเรียนการสอนจากครูสู่เด็กและเยาวชน แล้วส่งต่อไปยังครอบครัว ชุมชน และสังคม มุ่งเป้าสำคัญ 3 ประการ 1.สร้างสถานศึกษาต้นแบบรับมือฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพ 2. พัฒนาระบบข้อมูลองค์ความรู้ และสื่อ ให้เป็นเครื่องมือในการขยายผลและสร้างกลไกที่เกี่ยวข้องระดับชุมชน สำนักงานเขต และสังคม 3. สานพลังหน่วยงานและภาคีเครือข่ายในพื้นที่กรุงเทพ รับมือกับภัยจากฝุ่น PM2.5 ร่วมกัน ทั้งนี้ สสส. มีแผนจัดกิจกรรมธงสุขภาพ ครอบคลุม 437 โรงเรียนในสังกัด กทม.

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้เป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการรณรงค์เรื่องฝุ่น PM2.5 โดยเป็นการเน้นในโรงเรียน คือ การสร้างห้องเรียนสู้ฝุ่นในการให้ความรู้พื้นฐานกับนักเรียน มีการให้เครื่องวัดฝุ่นละอองเพื่อให้รู้ว่าสภาพฝุ่นของแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร ซึ่งมีโรงเรียนนำร่องอยู่ 34 แห่ง เป็นโรงเรียนในสังกัด กทม. 33 แห่ง และสังกัดเอกชน 1 แห่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากเยาวชนที่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นมากที่สุด เพราะว่าพอฝุ่นเข้าไปในปอดแล้วออกไม่ได้ ก็จะเป็นตัวที่สะสมอยู่ในระยะยาว และทำให้เกิดความเจ็บป่วยต่าง ๆ ซึ่งเด็กจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ถ้าเขามีความรู้จะทำให้เขาสามารถเอาความรู้นี้ไปขยายต่อด้วย ให้กับครอบครัวหรือแม้กระทั่งการดูแลป้องกันตัวเอง

“นับว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ๆ ที่ทาง สสส. เน้นการป้องกันแทนที่จะรอให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ แล้วค่อยมาแก้ ก็แก้ที่ต้นเหตุเลย เด็กก็เป็นตัวคูณคือเอาความรู้ไปขยายให้กับครอบครัวได้ และมีโครงการที่ กทม.ต้องทำต่อ นอกจากเรื่องความรู้แล้วต้องรณรงค์เรื่องกำจัดต้นตอของฝุ่น การให้อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากในเวลาที่มันเหตุสุดวิสัยจริง ๆ หรือต้องหาพื้นที่ปลอดฝุ่นให้กับกลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว

ในส่วนของอุปกรณ์ป้องกันภัย ได้เตรียมหน้ากากที่แจกให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งหน้ากากธรรมดาจะป้องกันฝุ่นได้ในระดับหนึ่ง ถ้าฝุ่นไม่ได้เยอะมากหน้ากากธรรมดาก็จะช่วยกรองอยู่ในขั้นที่ปลอดภัยได้ ถ้าหน้ากาก N95 จะค่อนข้างมีราคาแพง ซึ่งจะใช้ในกรณีที่ฝุ่นเยอะมาก ๆ ต้องการป้องกันสูง ในแง่ของค่าใช้จ่ายถ้าใช้หน้ากากธรรมดา 2 ชั้น จะสามารถป้องกันได้ค่อนข้างดี ซึ่งมีงานวิจัยรับรองอยู่ ซึ่งขึ้นกับปริมาณฝุ่นด้วย

ส่วนเรื่องการกำจัดต้นตอฝุ่น กทม.ได้เดินหน้าทุกวัน มีการตรวจรถควันดำ ตรวจโรงงาน ตรวจไซต์ก่อสร้าง ในขณะเดียวกันเรื่องการเผาชีวมวล ซึ่งน่าจะมีเพิ่มขึ้นในเดือนหน้าในพื้นที่เกษตรกรรม แถวหนองจอก มีนบุรี รวมทั้งเฝ้าระวังจุด HotSpot ในต่างจังหวัด ซึ่งอาจมีผลให้กรุงเทพได้รับผลกระทบ ซึ่งตอนนี้ กทม.ได้เปิดศูนย์ข้อมูลฝุ่นแล้ว อยู่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง มีการมอนิเตอร์ตลอด และมีแผนงานซึ่งต้องทำเป็นแผนระยะยาว เพื่อสุขภาพของคนกรุงเทพฯ ซึ่งจะต้องหารือกับจังหวัดปริมณฑลด้วย เพราะอากาศมันเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว

ด้านพลเอกนิพัทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ สสส. มีความห่วงใย สิ่งที่ สสส. ต้องการในวันนี้คือทำตามที่ผู้ว่าฯ กทม. เป็นห่วงใยเรื่องของเด็กในโรงเรียน กทม. 437 แห่งไว้ และพ่วงด้วยการให้ความรู้กับเด็ก ๆ เพื่อไปบอกพ่อแม่เป็นประกายความคิดในการที่จะจัดการกับฝุ่นในกทม. นี่คือประเด็นที่ สสส.ให้ความร่วมมือกับกทม.ในวันนี้ ซึ่งคิดว่าจะมีการขยายผลออกไปในพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ด้วย

สำหรับพิธีเปิดโครงการในวันนี้มี นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการศึกษา สำนักการแพทย์ สำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ และผู้อำนวยการสถานศึกษา ครู และภาคีเครือข่าย ร่วมพิธีเปิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น