พม. ดึงเครือข่ายภาคใต้ 14 จังหวัด ยกระดับการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ขับเคลื่อนส่งต่อระดับชาติ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2565

พม. ดึงเครือข่ายภาคใต้ 14 จังหวัด ยกระดับการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ขับเคลื่อนส่งต่อระดับชาติ



เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 65 เวลา 14.30 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงถ่ายทอดแนวทางการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism – NRM) สำหรับผู้มีหน้าที่คัดแยก (Competence Authority) รุ่น 2 โดยมีนายกองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายประวิทย์ ร้อยแก้ว รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์  นางสาวเจราดีน อองชาร์ด หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ประเทศไทย ผู้แทนส่วนราชการจังหวัดสงขลา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล พัทลุง ตรัง กระบี่ ภูเก็ต พังงา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ระนอง และชุมพร รวมจำนวนทั้งสิ้น 70 คน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมบุรีศรีภู คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


นายอนุกูล กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ โดยกระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานประสานงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้บูรณาการการทำงานอย่างเข้มแข็งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เนื่องจากการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ไม่สามารถดำเนินการได้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 

สำหรับการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ นับเป็นข้อท้าทายในการทำงาน ซึ่งประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะจากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ โดยได้รับความร่วมมือจาก ไอโอเอ็ม ประเทศไทย มาโดยตลอด จนกระทั่งสามารถเสนอกลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน อีกทั้งข้อสั่งการของ ปคม. ที่ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติสำหรับทุกหน่วยงาน เพื่อการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ของประเทศไทย


นายอนุกูล ระบุว่านอกจากนี้ รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2022 มีการจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 2 ซึ่งเป็นการยกระดับขึ้นจากระดับ Tier 2 Watch List ในปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งระบุว่า ในภาพรวม รัฐบาลไทยได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งได้กล่าวถึงพัฒนาการสำคัญในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องของไทย โดยมีการจัดทำกลไกการส่งต่อระดับชาติเสร็จสมบูรณ์ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้รับการยกระดับ Tier 2 

ทั้งนี้  กระทรวง พม. จึงร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ และ ไอโอเอ็ม ประเทศไทย จัดการประชุมชี้แจงถ่ายทอดแนวทางการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism – NRM) สำหรับผู้มีหน้าที่คัดแยก (Competence Authority) รุ่นที่ 2  เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในฐานะผู้มีอำนาจในกระบวนการคัดแยกตามกลไกการส่งระดับชาติในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หัวหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหรือตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และปลัดจังหวัดหรือผู้แทน ได้ตระหนักรู้และเข้าใจเรื่องกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ แนวทางการดำเนินงานตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ และบทบาทหน้าที่ของผู้มีหน้าที่คัดแยก อีกทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานซึ่งกันและกัน 

นายอนุกูล  กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ มีการเตรียมเรื่องการจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด เพราะฉะนั้น เรื่องกลไกการส่งต่อระดับชาตินับเป็นหัวใจสำคัญที่เราต้องทำร่วมกันอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน  การคุ้มครองสิทธิ การคัดแยกผู้เสียหาย สิทธิมนุษยชน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นต้น และเป็นอีกวาระหนึ่งที่ประเทศไทยแสดงออกถึงความตั้งใจจริงที่จะร่วมกันในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมี ไอโอเอ็ม ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานครั้งนี้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น