เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดการเสวนาด้านภาพยนตร์ (Thailand Film Seminar 2022) และการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านภาพยนตร์ (Film Workshop) โดยมี Mr. Stephen Jenner Vice President Motion Picture Association (MPA) โดยมีผู้ประกอบการภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ เข้าร่วม หอศิลป์แห่งชาติ ถนนเทียมร่วมมิตร กรุงเทพฯ โดย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการความร่วมมือกับ สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (Motion Picture Association,MPA) สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ หน่วยงานรัฐและเอกชน จัดงานเสวนาดังกล่าวขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์สร้างสรรค์ของไทยที่จะไปแข่งขันบนเวทีโลก สอดแทรกเรื่องราวความเป็นไทย หรือใช้ soft power ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย
ปลัด วธ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมหลักและครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ โฆษณา แอนิเมชัน เกม ดนตรี ดิจิทัลคอนเทนต์ฯ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ของรัฐบาล เพื่อสร้างอิทธิพลต่อผู้บริโภค ผ่านการแทรกซึมทางความคิดและวัฒนธรรม โดยสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ได้ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในทุกมิติแม้ว่าในปัจจุบัน สถานการณ์โลกจะทำให้ผู้ชมเข้ารับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์น้อยลง แต่ผู้ชมก็มีความนิยมในการรับชมในรูปแบบสตรีมมิ่งมากขึ้น จนทำให้เกิดแพลตฟอร์มรายใหม่เกิดขึ้นในตลาดอีกมาก กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของ Soft Power ผ่านสื่อภาพยนตร์ โดยมุ่งเน้นผลักดัน ให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯ นำเนื้อหาที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม อาหาร สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไปสอดแทรกในภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และสื่อต่าง ๆ เพื่อส่งออก สร้างรายได้ พื้นฟูเศรษฐกิจ และเกิดการสร้างค่านิยมไทย
ทั้งนี้ ในรายงานจาก Frontier Economics แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์กำลังกลายเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย การใช้คอนเทนต์มาเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ สร้างภาพลักษณ์อันดีของประเทศ นำมาสู่การท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ การมีช่องทางการเผยแพร่คอนเทนต์ที่หลากหลายเพื่อแสดงผลงานสร้างสรรค์และวัฒนธรรมที่ดีที่สุดของประเทศไทย สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างที่ดีของไทยในการใช้ Soft Power” นอกจากนี้ยังพบว่า รายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจของให้บริการสตรีมมิ่งคอนเทนต์ (Online Curated Content – OCC) ในประเทศไทยค้นพบ ดังนี้ ประเทศไทยส่งเสริมอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ผู้ให้บริการ OCC มีการลงทุนในคอนเทนต์ไทยเพิ่มขึ้น ในปี 2564 คนไทยเป็นสมาชิก OCC ถึง 11.3 ล้านคน โดย 81% ของผู้ใช้บริการ OCC อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง มีผู้ให้บริการ OCC ลงทุนในคอนเทนต์ไทยในปี 2564 ถึง 3,700 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,300 ล้านบาทในปี 2565 ยกตัวอย่างบริการ OCC ได้นำคอนเทนต์ไทยไปสู่เวทีโลก ได้แก่ ซีรี่ส์ ถ้ำหลวง:ภารกิจแห่งความหวัง ที่ฉายทาง NETFLIX เป็นต้น โดยทาง OCC กำลังเพิ่มการลงทุนในคอนเทนต์ไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ชาวไทย ทำให้เกิดการจ้างงานและทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในไทย โดยในปี 2563 OCC ก่อให้เกิดการจ้างงาน 45,000 ตำแหน่งในไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น