วธ.ปั้นเด็กรุ่นใหม่ป้อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ มุ่ง ”Soft Power” - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2565

วธ.ปั้นเด็กรุ่นใหม่ป้อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ มุ่ง ”Soft Power”

ระดมกูรูระดับประเทศจัดอบรมการผลิต เขียนบทภาพยนตร์ เทคนิคกำกับการแสดง และ Post Production ให้เยาวชน ดึงอัตลักษณ์ และความโดดเด่นของสถานที่ ใน จังหวัด นครศรีธรรมราช บึงกาฬ และชลบุรี สร้างแรงบันดาลใจ ในเดือนสิงหาคม – กันยายน ๒๕๖๕ นี้ คาดมีผลิตภาพยนตร์สั้นเผยแพร่ได้ไม่น้อยกว่า ๑๕ เรื่อง

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากนโยบายรัฐบาลที่มุ่งผลักดันการใช้ ”Soft Power” ความเป็นไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้แก่ประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ได้มีการส่งเสริม กำกับดูแลของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ระยะที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) รวมถึงดำเนินงานพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดโครงการสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Content Thailand Academy) : นักสร้างเรื่อง ให้เยาวชนในส่วนภูมิภาคได้แสดงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ผ่านการผลิตภาพยนตร์สั้น

นายอิทธิพล กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวมีการอบรมกระบวนการผลิตภาพยนตร์ การเขียนบทภาพยนตร์ เทคนิคการกำกับการแสดง และขั้นตอนในการทำ Post Production เพื่อให้เยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ แลกเปลี่ยนมุมมองด้านภาพยนตร์และได้ลงมือปฏิบัติงานร่วมกับผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังเป็นการผลิตภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ วีดิทัศน์ และสื่อออนไลน์ที่ช่วยเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และอัตลักษณ์ของประเทศไทยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีกลุ่มเป้าหมายอายุระหว่าง ๑๔ - ๑๘ ปี จัดการอบรม ๓ จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ชลบุรี ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ๒๕๖๕ นี้ คาดมีการผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์จากโครงการดังกล่าวเผยแพร่ไม่น้อยกว่า ๑๕ เรื่อง


“ปัจจุบัน เยาวชนไทยสนใจการผลิตภาพยนตร์สั้นเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการปรับเปลี่ยนของเทคโนโลยีทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในสังคมออนไลน์เป็นไปอย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง จึงทำให้เกิดกระแสการผลิตเนื้อหาในรูปแบบต่างๆ ทั้งภาพยนตร์สั้น คลิปวิดีโอ ข่าวสาร เข้าสู่ระบบออนไลน์เป็นจำนวนมาก โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ยังขาดประเด็นการนำเสนอที่น่าสนใจและสร้างคุณค่าแก่สังคม รวมทั้งยังขาดวิธีการนำเสนอที่เหมาะสม ซึ่งสื่อดังกล่าวสามารถสร้างผลกระทบต่อสังคมและสร้างค่านิยมทางความคิดและการแนวทางการใช้ชีวิตได้ ดังนั้น โครงการดังกล่าว จะทำให้เยาวชนได้เรียนรู้วิธีการผลิตภาพยนตร์สั้นที่มีคุณภาพ สร้างโอกาสในการต่อยอดทางความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างค่านิยมที่ดีให้กับเยาวชนในการนำเสนอสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคม สร้างการรับรู้ความสำคัญของภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในการเป็นสื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน พัฒนาศักยภาพและความพร้อมของเยาวชนไทยในการศึกษาและเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่อไป ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น