มหาดไทยจัดประกวด“ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา”รอบคัดเลือกภาคกลางสนองแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ต่อลมหายใจผ้าไทยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565 ที่โรงแรมสุวรรณาริเวอร์ไซด์ อ.เมือง จ.ชัยนาท นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรมระดับภาค จุดดำเนินการที่ 2 ภาคกลางจังหวัดชัยนาท โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ผู้ประกอบการที่ส่งผลิตภัณฑ์จากผ้าและงานหัตถกรรมเข้าร่วมในงานฯ
ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ระดับภาค อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย น.ส.รติรส ภู่วิดาวรรธน์ รองประธานกรรมการบริษัท ไอริส 2005 จำกัด น.ส.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กประเทศไทย นายพลพัฒน์ อัศวะประภา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ASAVA นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรด์ WISHARAWISH นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ช่างต้นแบบสิ่งทอ กรมหม่อนไหม นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน นางสาวริตยา รอดนิ่ม ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริม ร่วมในพิธีเปิด
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ดีใจที่มีโอกาสกลับมาจังหวัดชัยนาทเพื่อร่วมกับพี่น้อง ส่วนราชการ ผู้ประกอบการดำเนินโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ราชกัญญา ที่มีพระราชประสงค์สืบสาน รักษาและต่อยอดพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้านภูมิปัญญาผ้าไทยให้คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี ปรากฏชัดเจนจากพระราชกรณียกิจ จนนำมาสู่แนวคิดกิจกรรมที่ดีสู่พี่น้องประชาชนทุกภูมิภาค
ทั้งนี้ โครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน – 19 สิงหาคม 2565 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ กำหนดดำเนินการกิจกรรมประกวดผ้าลายพระราชทาน และงานหัตถกรรม ระดับภาค จำนวน 4 จุดดำเนินการ ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ในครั้งนี้เป็นจุดดำเนินการที่ 2 ภาคกลาง จังหวดชัยนาท มีผู้สมัครส่งผ้าเข้าประกวด ประเภทผ้า จำนวน 232 ผืน ประเภทงานหัตถกรรม จำนวน 70 ชิ้น และจะประกวดรอบคัดเลือก ในวันที่ 24 กันยายน 2565 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยคัดเลือกผ้าให้คงเหลือ 150 ผืน เพื่อประกวดในรอบ Semi Final และรอบตัดสินในระดับประเทศ และให้กรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาคนในพื้นที่
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นปีที่ 2 ที่พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณช่วยเหลือให้ชาวมหาดไทยร่วมมือกับภาคี เครือข่ายคณะทำงานโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ทรงทำทุกอย่างเพื่อให้พี่น้องคนไทย สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทยและงานพัฒนาศิลป์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ถูกใจและทำให้รู้จักเลือกใช้สีให้เป็นที่นิยม สีที่คนนิยมในอนาคตอันใกล้และไกล พระองค์ทรงเป็นพระองค์แรกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้พี่น้องคนไทย ทั้งชาวบ้านและนักธุรกิจ ที่สำคัญต่อมาให้พวกเราประกอบสัมมาอาชีพ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่พวกเราคำนึงถึงบ่อย ๆ ว่า เราจะต้องเน้นการใช้สีธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้สภาวะโลกร้อนให้ลดลง เน้นหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิธ โดยการพึ่งพาตนเองให้ได้
"พระองค์ท่านพยายามให้พวกเราปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติ ให้พวกเราพึ่งพาตนเองให้ได้เป็นนัยยะ ให้คนที่มีความถนัดช่วยกันปลูก ซึ่งการพึ่งพาตนเองมี 2 ระดับคือ การพึ่งพาตนเองระดับครอบครัว/กลุ่ม และการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ พระราชวินิจฉัยหรือแนวทางมีความสำคัญต่อความมั่นคง เพราะเราไม่สามารถพึ่งพาคนอื่นได้ตลอดไป เพราะสถานการณ์โรคโควิด-19 เราพึ่งพาต่างประเทศนำเข้าส่งออกอะไรไม่ได้ เช่น ทุเรียนส่งไปขายเมืองจีนต้องถูกกักเสียก่อน หรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน สินค้าอะไรก็แพงขึ้น สำหรับประเทศที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ก็ลำบาก ถ้าพวกเราทอผ้าเองได้ ปลูกฝ้ายปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเองได้ จึงไม่ต้องกลัวว่าไม่มีใครส่งสินค้าให้ เราก็สามารถอยู่ได้ สายพระเนตรของพระองค์ทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศ ไม่ต้องเสียดุลย์การค้า ไม่ต้องเกรงว่าจะขาดทุนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำให้ประเทศมีความมั่นคง"นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า งานต่อมาคืองานพัฒนาฝีมือหรือการพัฒนาคุณภาพคือ ทรงพระราชทานแนวทางให้พวกเราเกิดแสงสว่างในปัญญาว่า ผลิตภัณฑ์นั้นสามารถเพิ่มมูลค่าได้ เช่น ลวดลายใหม่ ๆ สีใหม่ ๆ ถ้าลวดลายเก่าผสมกับลวดลายใหม่ ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้นตามความต้องการชิ้นงานใหม่ ๆ มาใช้ทำเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มมากขึ้น “เสื้อที่ผมใส่เป็นลายเก่า เพียงแต่ออกแบบตัดเย็บให้มีรูปลักษณ์ใหม่ เช่น ตัดเป็นท่อน ๆ ของเก่าก็ยังอยู่ แต่มีชิ่นงานใหม่ขึ้นมาตามความน่าสนใจให้พวกเราไปทำงาน” โครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เป็นโครงการของพระองค์ ตนไปที่ไหนพี่น้องประชาชนก็ยกมือท่วมหัว เหมือนกับโครงการนี้เป็นเหมือนหยาดฝนทิพย์ลงในทะเลทราย นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการมาสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท จากในบางหมู่บ้าน บางคนมีรายได้ 700 บาทต่คนต่อเดือน กลายเป็น 1 หมื่นบาท ต่อคนต่อเดือน
ด้าน นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 ประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค กิจกรรมที่ 2 บันทึกและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานผ้าและงานหัตถกรรมที่ได้รับการคัดเลือก และกิจกรรมที่ 3 ติดตามสนับสนุนผู้ประกอบการผ้าไทย โดยมีวัตถุประสงค์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ผ่านการคัดเลือกผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” โดยกิจกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ระดับภาค ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตัดสินการประกวด ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินฯ ในครั้งนี้ด้วย
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวย้ำว่า ขอให้ช่วยกันขยายแนวความคิดเป็นภูมิปัญญาสังคม ให้สืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาหัตถศิลป์ไทย เพื่อให้มีหลักประกันความมั่นคงให้พึ่งพาตนเอง พระองค์ทรงมีประราชประสงค์ให้เกิด 2 สิ่งคือ 1.ให้เกิดศูนย์กลางภูมิปัญญา เป็นวิทยาลัยดอนกอยมหาดไทย โดยคาดว่าจะเปิดปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จะระดมเอาภูมิปัญญาเรื่องสี วัตถุดิบ เป็นศูนย์รวมในการทำงานเป็นกลุ่ม เป็นศูนย์รวมที่ศึกษาดูงานของสินค้า ที่ประชุม และ2.สร้างยุวชนเด็กรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้นเพื่อสืบทอด ถ้าไม่มียุวชนอาจไม่เข้มแข็งด้านความมั่นคงเรื่องเครื่องนุ่งห่มเพื่อให้เกิดรายได้ จึงอยากชวนเด็ก ๆ ให้คลุกคลีกับงานผ้าและฝึกฝนเป็นอาชีพต่อไป ขณะเดียวกันมีความต้องการให้มีผู้ออกแบบมาช่วยงานผ้าไทย เช่นตัดเย็บออกแบบให้ลูกค้าให้เป็นแฟชั่นตะวันตก อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะประสบความสำเร็จเร็ว ต้องช่วยกันอุดหนุนทำให้เกิดเป็นแฟชั่น ให้เกิดความคุ้นชิน ด้วยการสวมใส่ทุกเวลา ทุกโอกาส เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากไทยมั่นคง เข้มแข็งทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ถือเป็นการปฏิบัติบูชาแด่พระองค์ท่านในที่สุด
วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2565
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
Author Details
สื่อมวลชนหัวใจยุติธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น