หาก “กรุงเทพมหานคร” เปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ “ประชาชน” ก็คงเปรียบได้กับคุณครูที่รอตรวจการบ้านจากผู้บริหารกรุงเทพมหานครทุก ๆ ท่าน วันนี้ (9 ก.ย. 65) จึงเป็นโอกาสที่กรุงเทพมหานครจะมาส่งการบ้านให้กับประชาชนในงานแถลงข่าว “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร โดยมี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล นายจักกพันธุ์ ผิวงาม และ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เล่าถึงภาพรวมการทำงาน 99 วัน ในรูปแบบ TED Talk เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่า กรุงเทพมหานครทำอะไรไปบ้างแล้ว และจะทำอะไรต่อไปเพื่อทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
*เริ่มแล้วพัฒนาฐานข้อมูลจุดเสี่ยงและแหล่งทรัพยากรฉุกเฉิน● รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวถึงการทำงาน 99 วันที่ผ่านมา ภายใต้นโยบาย 3ดี คือ ปลอดภัยดี สุขภาพดี และบริหารจัดการดี ที่ได้เริ่มเดินหน้าแล้ว ในด้าน “ปลอดภัยดี” ได้แก่ การพัฒนาข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงกรุงเทพมหานคร (BKK risk map) นำเข้าข้อมูลตำแหน่งหัวจ่ายดับเพลิง(ประปาหัวแดง)ลงฐานข้อมูล GIS และ MIS รวมทั้งบัญชีวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการเผชิญเหตุ ในด้านทรัพยากรได้พัฒนาระบบป้องกันสาธารณภัย โดยเพิ่มประปาหัวแดงโดยเฉพาะเขตที่อยู่หนาแน่น พร้อมพัฒนาบัญชีอุปกรณ์ในการเผชิญเหตุสาธารณภัยฉุกเฉินระดับย่าน และปรับปรุงและบำรุงอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย
*เปิดบริการรูปแบบใหม่เพื่อคนกรุงสุขภาพดี
“สุขภาพดี” ได้ดำเนินการ 4 เรื่องหลัก คือ
1) พัฒนาระบบการจัดการโรคติดต่อ(โควิด-19) ได้เปิดบริการคลินิกวันเสาร์ ช่วง ก.ค.- ส.ค. 65 ให้บริการไปแล้ว 4,946 ราย ให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุก ให้แก่กลุ่ม 608 จำนวน 16,961 ราย พร้อมทั้งเปิดคลินิกลองโควิด (Long COVID) ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 9 แห่ง
2) เปิดบริการคลินิกหลากหลายทางเพศ(Bangkok Pride Clinic) ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่งใน 6 กลุ่มเขตและที่โรงพยาบาลสังกัดกทม. อีก 5 แห่ง
3) เปิดให้บริการศูนย์บริการบัตรคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ 9 แห่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิของคนพิการได้สะดวกรวดเร็วขึ้น และลดขั้นตอนกระบวนการในการขึ้นทะเบียนคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4) การทำ sandbox เชื่อมรอยต่อระหว่างระบบสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ตั้งแต่ที่บ้าน นำร่องศูนย์สุขภาพปฐมภูมิ “ดุสิตโมเดล” ซึ่งเป็นนโยบายต่อเนื่องจากผู้บริหารชุดที่แล้ว สำหรับดูแลพื้นที่เขตดุสิต พระนครบางพลัด และบางซื่อ ในส่วนของ “ราชพิพัฒน์ sandbox” จะมีพื้นที่ดูแลครอบคลุมเขตตลิ่งชัน บางแคหนองแขม ภาษีเจริญ และทวีวัฒนา
*พัฒนาระบบบริหารจัดการและดูแล “คน”
ด้าน “บริหารจัดการดี” ได้ดำเนินการพัฒนาระบบบริการ Smart service และคำขอแบบออนไลน์ (Bangkok One Stop Service: BKK OSS) ซึ่งเป็นบริการที่มีอยู่แล้ว แต่ได้เพิ่มงานบริการด้านทะเบียน 4 งานและแบบฟอร์มออนไลน์ 4 แบบ เพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ในส่วนของกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกคนพิการเข้ารับราชการซึ่งจะเข้ากระบวนการสรรหาและบรรจุ จะดำเนินการได้ในช่วง ต.ค. - พ.ย. 65 นี้
สำหรับการเพิ่มสวัสดิการครูและพนักงานเก็บและขนขยะ ได้มีการทบทวนสวัสดิการและรูปแบบการจ้างพร้อมทั้งจัดทำร่างข้อบัญญัติเงินรางวัลประจำปีให้แก่ลูกจ้างกทม. รวมถึงผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้ประกาศนโยบายสนับสนุนความเท่าเทียมยอมรับความหลากหลายทางเพศโดยไม่เลือกปฏิบัติทางเพศและการป้องกันการล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศในการทำงาน
*รองฯ ทวิดา ดันนโยบาย 3ดี ชนเป้าหมายอีก 99 วันข้างหน้า
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวด้วยว่าอีก 99 วันจากนี้ นโยบายด้านปลอดภัยดี จะเน้นการบริหารจัดการความปลอดภัยด้วยระบบข้อมูลชุมชน (ทรัพยากรและอาสาสมัคร) รวมทั้งบูรณาการ BKK RISK MAP เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่ที่เป็นวิกฤติน้ำท่วม จุดวิกฤติอาชญากรรม จุดวิกฤตอัคคีภัย มากขึ้น
ส่วนนโยบายด้านสุขภาพดี จะเพิ่มคลินิกหลากหลายทางเพศ Pride Clinic ในศูนย์บริการสาธารณสุข 16 แห่ง รวมถึงเพิ่มเตียงพักรอสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินในศูนย์บริการสาธารณสุข กลุ่มเขตละ 1 แห่ง พร้อมทั้งเชื่อมต่อและขยายบริการศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จโดยหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้พิการ และขยายระบบปฐมภูมิ sandbox ในโซนกรุงเทพเหนือโดยทำความร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
และนโยบายด้านบริหารจัดการดี ประชาชนจะสามารถติดตามความก้าวหน้าตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ทั้งหมด BKK digital plan การปรับโครงสร้างสำนักงานเขตในภาพรวมทั้งมิติโครงสร้างงานและอัตรากำลัง มิติด้านคุณภาพชีวิต เนื่องจากเส้นเลือดฝอยเป็นสิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญมากที่สุด โดยจะเริ่มปรับในลักษณะของ Sandbox และจัดทำระบบประเมินผลงานแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ สร้างความโปร่งใสในการสู่ตำแหน่งเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะแล้วเสร็จ
โปรดติดตาม ep.2 โดย รองผู้ว่าฯ วิศณุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น