รัฐบาลขยายวงเงินค้ำประกันเพิ่ม 50,000 ล้านบาท เติมสภาพคล่อง SME หนุน BCG Model ดอกเบี้ยต่ำ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2565

รัฐบาลขยายวงเงินค้ำประกันเพิ่ม 50,000 ล้านบาท เติมสภาพคล่อง SME หนุน BCG Model ดอกเบี้ยต่ำ

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เริ่มบรรเทาลง ส่งผลให้ภาคธุรกิจบางสาขาเริ่มส่งสัญญาณกลับมาฟื้นตัว แต่ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) รวมทั้ง ผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญต้องการให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และผู้ประกอบการรายย่อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึงและมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจ

นางสาวรัชดาฯ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบการขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก.ฟื้นฟู ระยะที่ 2 อีกจำนวน 50,000 ล้านบาท ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเต็มวงเงินสินเชื่อ โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.65 เป็นต้นไป ผ่านมาตรการ “บสย.พร้อมช่วย” ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนผ่าน และการเปิดประเทศ สู่ BCG Model ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ ค่าธรรมเนียมค้ำประกันถูก เพียง 3% ใน 2 ปีแรก และยังค้ำประกันเต็มวงเงิน ซึ่งช่วยผู้ประกอบการได้รับประโยชน์มากถึง 3 ต่อ ดังนี้ 1. อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ 2% ใน 2 ปีแรก (รัฐชดเชยดอกเบี้ย 6 เดือนแรก) 2. ค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ 1% ใน 2 ปีแรก และ 3. บสย. พร้อมค้ำประกันสินเชื่อแบบเต็มวงเงิน ส่วนระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 – วันที่ 9 เมษายน 2566 (ตามกรอบระยะเวลาของธนาคารแห่งประเทศไทย)

นางสาวรัชดาฯ กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจเป้าหมายภายใต้ BCG Model ที่ได้รับการสนับสนุน ได้แก่ กลุ่มดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจ กลุ่มที่กำลังปรับไปสู่กระบวนการผลิต และบริการแบบออโตเมชั่น กลุ่มธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม ระบบประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด กลุ่มธุรกิจที่พัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบ Zero waste และกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมที่เสริมความสามารถในการแข่งขัน

“รัฐบาลมั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น มีสภาพคล่องที่เพียงพอและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป” นางสาวรัชดาฯ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น