คกก.โรคติดต่อ กทม. เตรียมความพร้อมโควิด-19 สู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ย้ำประชาชนปฏิบัติตนตามมาตรการ UP และ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565

คกก.โรคติดต่อ กทม. เตรียมความพร้อมโควิด-19 สู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ย้ำประชาชนปฏิบัติตนตามมาตรการ UP และ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2565 โดยมีคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และการประชุมผ่านระบบทางไกล

• เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

ในที่ประชุมสำนักอนามัยได้รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในกทม. ยังมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยหนัก ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 คงตัว ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิต ยังเป็นกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ และมีประวัติโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต) ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นต้น จำเป็นต้องเร่งการให้ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำติดต่อเข้ารับการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ Long Acting Antibody (LAAB) เสริมภูมิคุ้มกันโควิด-19 โดยเร็ว

ซึ่งในส่วนของ กทม. ได้รับจัดสรร LAAB จำนวน 890 โดส โดยสำนักอนามัย กระจายให้โรงพยาบาลเอกชน และสังกัดอื่นๆ จำนวน 200 โดส กรมการแพทย์ กระจายให้โรงพยาบาลในสังกัด จำนวน 200 โดส และ UHosNet กระจายให้โรงพยาบาลในสังกัด จำนวน 490 โดส โดยดำเนินการฉีดไปแล้ว จำนวน 254 โดส คิดเป็นร้อยละ 28.54

ด้านการเตรียมความพร้อมด้านยารักษาโควิด -19 รองรับการเข้าสู่ระยะ Post – pandemic นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนยาต้านไวรัส ทั้ง Molnupiravir และ Favipiravir ให้กับ กทม.อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของ กทม. ได้ดำเนินการจัดซื้อยาต้านไวรัสเองด้วย เพื่อให้การบริหารจัดการยาเพียงพอสำหรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ

โดย ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การประชุมวันนี้ เป็นการติดตามสถานการณ์ทั้งหมด รวมถึงการเตรียมในเดือน ก.ย. – ต.ค. 65 ซึ่งจะมีการเปลี่ยนสถานะโรคโควิด-19 จาก “โรคติดต่ออันตราย” ไปสู่ “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” ในวันที่ 1 ต.ค. 65 ซึ่งในช่วงเดือน ก.ย. นี้ จะเป็นช่วงที่ กทม. เตรียมพร้อมขั้นตอนปฏิบัติต่าง ๆ อาทิ การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ การเฝ้าระวัง แผนการเปลี่ยนผ่านและแผนรองรับการระบาด ซึ่งหลังจากเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง อาจมีการผ่อนคลายมาตรการ ทำให้อาจจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น รวมทั้งข้อปฏิบัติที่ต้องสื่อสารกับสาธารณะอย่างชัดเจน ว่าเมื่อเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล (Universal Prevention : UP) และมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) ยังต้องถือปฏิบัติอยู่โดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ โรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข จะได้เร่งในการฉีดวัคซีนให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ภาวะฟื้นฟู ในส่วนของการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ของกรุงเทพมหานคร ยังเปิดให้บริการทุกจุด โดยสามารถ Walk in และรับบริการผ่านการนัดหมาย สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง หรือผู้ที่เดินทางยากลำบาก สามารถติดต่อศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ซึ่งจะมีทีมเชิงรุกเข้าไปให้บริการวัคซีน ปัจจุบันตัวเลขผู้ฉีดวัคซีน ในกลุ่ม 608 เข็มกระตุ้นอยู่ที่ 69% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานของประเทศ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า สถานการณ์โรคดีขึ้น แต่สำหรับกลุ่ม 608 ไม่ได้ดีขึ้น ยังมีความเสี่ยงสูง มีการเสียชีวิตและใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ ดังนั้นจึงต้องไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น หากฉีดเข็มล่าสุดเกิน 4 เดือนแล้ว ซึ่ง กทม. ยังพร้อมให้บริการตลอด ทั้งโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และศูนย์ฉีดวัคซีน กทม. อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง

• พบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร ใน กทม. 3 ราย ยังเฝ้าระวังต่อเนื่อง

สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อยืนยัน 7 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยันใน กทม. 3 ราย ในพื้นที่เขตบางพลัด คลองเตย และบึงกุ่ม โดยสำนักอนามัยได้ลงพื้นที่ดำเนินการสอบสวนโรค และให้คำแนะนำผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยสงสัยเกี่ยวกับการสังเกตอาการ หากมีอาการให้แจ้งศูนย์บริการสาธารณสุขทันที และติดตามอาการผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจนครบ 21 วัน

• ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. ป้องกันโรคไข้เลือดออก

ด้านสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในพื้นที่ กทม. ข้อมูลผู้ป่วยสะสม ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. – 20 ส.ค. 65 มีจำนวน 1,766 ราย ผู้ป่วยสะสม (รายเดือน) ตั้งแต่วันที่ 1 – 20 ส.ค. 65 จำนวน 333 ราย ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นของสัปดาห์นี้ (สัปดาห์ที่ 33) เพิ่มขึ้น 155 ราย

พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ กล่าวว่า ในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นปีของการระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งทาง กทม. ได้มีการดำเนินงานโดยแจ้งทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ ทั้งโรงเรียน สถานพยาบาล ชุมชนต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. ประกอบด้วย ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุง ปฏิบัติ แหล่งน้ำทั้งหมดต้องดูแลกำจัดลูกน้ำยุงลายให้หมดไป เพื่อไม่ให้เกิดตัวแก่ ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้น ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกย้อนหลัง 5 ปีลดลง ในส่วนของการฉีดพ่นหมอกควันจะใช้ในกรณีที่มีโรคเกิดขึ้นแล้ว หรือมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น เพื่อจะไปควบคุมตัวแก่ที่มีเชื้อโรคแล้ว จะไม่พ่นทั่วไป โดยจะใช้มาตรการที่จัดการกับลูกน้ำยุงลาย ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก (ขอบคุณภาพและข่าวจากเพจprbangkok.com)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น