มท.1 มอบรางวัลการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ระดับประเทศ ประจำปี 2563 และ 2565 ยกย่อง 28 จังหวัดต้นแบบ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2565

มท.1 มอบรางวัลการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ระดับประเทศ ประจำปี 2563 และ 2565 ยกย่อง 28 จังหวัดต้นแบบ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบรางวัลการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ระดับประเทศ ประจำปี 2563 และ 2565 ยกย่อง 28 จังหวัดต้นแบบการจัดการขยะที่เป็นเลิศ ย้ำ เดินหน้าต่อเนื่องเพื่อบ้านเมืองสะอาด

เมื่อวันที่  16 กันยายน 2565 เวลา 08.30 น. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ระดับประเทศ ประจำปี 2563 และ 2565 โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมพิธี ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การจัดการประกวดและมอบรางวัลการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงเพื่อสร้างขวัญกำลังใจและยกย่อง เชิดชูเกียรติ แก่จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลการจัดการขยะมูลฝอยดีเด่น โดยจังหวัดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละกลุ่มจังหวัด จะได้รับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 500,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 400,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 250,000 บาท และรางวัลชมเชย ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งหนึ่ง และเป็นที่น่ายินดีที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดให้มี พิธีมอบรางวัลการจัดการขยะมูลฝอย "จังหวัดสะอาด" ประจำปี 2563 และ 2565 ซึ่งรางวัลดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นระบบ อันช่วยส่งเสริมให้เกิดสุขอนามัยและสภาพแวดล้อมที่ดี ต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคงไม่สามารถดูแลแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากขาดความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง อันประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ร่วมสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่มีความยั่งยืน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเป็นเรื่องที่ทุกจังหวัดต้องเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง นอกจากส่งเสริม รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะต้นทางแล้ว การสร้างนวัตกรรมหรือกิจกรรมใหม่ ๆ ในการจัดการขยะกลางทาง และขยะปลายทาง ทั้งรูปแบบการบริหารจัดการขยะโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การบริหารจัดการในรูปของกลุ่ม Cluster เป็นต้น จังหวัดที่ได้รับรางวัลในวันนี้ได้ทำให้เห็นเด่นชัดอย่างเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดลำพูน ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นจังหวัดต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนยั่งยืน เนื่องจากมีผลงานดีเด่นต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ 2560 เป็นต้นมา รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ที่ได้รับรางวัล 2 ปีต่อเนื่อง

ด้าน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย ขยะอันตรายของประเทศ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มุ่งสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จึงเป็นภารกิจสำคัญที่กระทรวงมหาดไทยจะต้องขับเคลื่อนตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ในการนี้ กระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน "จังหวัดสะอาด" ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ดำเนินการผ่านจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภายใต้หลักการ "ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่" โดยแบ่งเป็น 3 ระยะดำเนินการ ได้แก่ 1) "ต้นทาง" คือ การลดปริมาณขยะ และส่งเสริมการคัดแยกขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด 2) "กลางทาง" คือ การเพิ่มประสิทธิภาพ การเก็บ ขน ขยะมูลฝอย ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) "ปลายทาง" คือ ขยะได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง ตามหลักวิชาการ เพื่อเป็นการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของจังหวัด กระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดทำโครงการประกวดและมอบรางวัลการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน "จังหวัดสะอาด" ขึ้น เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติให้แก่หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งได้คัดเลือกจังหวัดที่มีการปฏิบัติงานดีเด่น ระดับประเทศ ใน 5 ภูมิภาค รวม 41 รางวัล ดังนี้

สำหรับในปี 2563 ผลการคัดเลือกจังหวัดที่มีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ระดับประเทศ ประจำปี 2563 แบ่งเป็น 5 กลุ่มจังหวัด ดังนี้ 1) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดลำพูน รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดพิจิตร รางวัลชมเชย ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย โดยจังหวัดลำพูนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ นับว่าเป็นการคว้ารางวัลชนะเลิศต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 4 แล้ว 2) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดยโสธร รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี รางวัลชมเชย ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี 3) กลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันตก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดลพบุรี รางวัลชมเชย ได้แก่ จังหวัดอ่างทอง 4) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดระยอง รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ รางวัลชมเชย ได้แก่ จังหวัดตราด และ 5) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดสตูล รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดชุมพร รางวัลชมเชย ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต

และสำหรับผลการคัดเลือกจังหวัดที่มีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ระดับประเทศ ประจำปี 2565 แบ่งเป็น 5 กลุ่มจังหวัด ดังนี้ 1) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดแพร่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดพิจิตร รางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 3 ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี 2) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดยโสธร รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ จังหวัดสกลนคร 3) กลุ่มจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันตก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดสระบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี 4) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดตราด รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ จังหวัดระยอง และ 5) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดยะลา รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดสตูล รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดกระบี่ รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 ได้แก่ จังหวัดตรัง

จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการถอดบทเรียนความสำเร็จของจังหวัดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 5 กลุ่มจังหวัด และกล่าวว่า “ขอชื่นชมกับความสำเร็จของจังหวัดที่ได้รับรางวัลในวันนี้ แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความจริงจังในการจัดการปัญหาขยะของทุกจังหวัด ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้นำแนวทางการบริหารจัดการนี้ ไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในด้านอื่นๆ รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความตระหนักในการจัดการขยะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ สร้างบ้านเมืองที่สะอาด สวยงาม สร้างความเข้มแข็งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยของเราให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น