เมื่อวันที่ 22 ส.ค.65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรบรรยาย หัวข้อ คนไทย ทำอย่างไรให้อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี ในงานสัมมนา Health & Wealth Forum : สร้างสุขก่อนสูงวัย ซึ่งเครือเนชั่น โดย กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ เนชั่นทีวี ช่อง 22 สปริงนิวส์ และพันธมิตร กำหนดจัดขึ้น ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอทเอราวัณ กรุงเทพ
หนึ่งในนโยบายดูแลผู้สูงอายุของกทม. คือ การสร้างเส้นเลือดฝอยที่แข็งแรง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จริงๆ แล้ว เรื่อง Health และ Wealth คือเรื่องเดียวกัน ในวันนี้จะพูดถึง 2 เรื่องหลักคือ นโยบายผู้สูงอายุของกทม. และเคล็ดลับการดูแลสุขภาพจากประสบการณ์ส่วนตัว
“ในขณะนี้ถือว่ากรุงเทพมหานครเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ จากข้อมูลปัจจุบันมีผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ มากกว่า 21.68 % จากจำนวนประชากรทั้งหมด 5,508,836 คน และตัวเลขมีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อพบว่ากรุงเทพฯ มีจำนวนประชากรจำนวนลดน้อยลง แต่จำนวนประชากรที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯแล้ว เหลือแต่ผู้สูงอายุที่อยู่ในกรุงเทพฯ อาจจะเพราะคนรุ่นใหม่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า สิ่งที่ท้าทายที่สุดของเมืองในอนาคตคือทำอย่างไรจะดึงคนรุ่นใหม่ คนเก่งให้อยู่ในเมืองได้อย่างไร เป็นโจทย์หลักที่เราต้องคิด และทำคุณภาพชีวิตของคนในเมืองให้ดี” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ตนชอบเปรียบกทม.เป็นเหมือนเส้นเลือด โดยเส้นเลือดใหญ่อาจหมายถึงเมกะโปรเจคหรือการคมนาคมระดับรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ และเส้นเลือดฝอยคือโครงการย่อย ๆ ในชุมชนและการคมนาคมในระดับถนน ซอยและฟุตบาท ทั้งนี้ระบบจะไม่มีทางสมบูรณ์ได้ถ้าทั้ง 2 ส่วนไม่ไปด้วยกัน เช่นเดียวกับระบบสาธารณสุข ซึ่งมีตั้งแต่ระบบบริการสุขภาพระดับตติยภูมิ หรือโรงพยาบาล ระดับโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ ทุติยภูมิ ระดับโรงพยาบาลทั่วไป และปฐมภูมิ ระดับของศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.)ในชุมชนซึ่งดูแลประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งเป็นระดับที่ประชาชนมีความต้องการสูงสุด และถือเป็นเส้นเลือดฝอยของกทม. อย่างไรก็ตามปัญหาปัจจุบันคือเส้นเลือดฝอยเส้นนี้มีความอ่อนแอ คนไม่ไว้ใจ ทำให้คนวิ่งไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดภาวะ Over Load
นโยบายขณะนี้คือการทำให้ศบส.ให้เข้มแข็งขึ้นโดยเอาเทคโนโลยีมาช่วย รวมถึงการทำโครงการ Sandbox โดยใช้ Telemed ดูแลสุขภาพให้กับประชาชนในชุมชน และจัดอาสาสมัครเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุในการเข้าถึงระบบต่างๆเหล่านี้ด้วย เพื่อทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยพัฒนาเป็นนโยบาย 9 ด้าน ที่มีมิติเกี่ยวข้องผู้สูงอายุทั้งหมด และกำหนดเป็นนโยบายย่อย 216 ข้อ เพื่อทำให้เส้นเลือดฝอยเข้มแข็งขึ้น
ทั้งนี้ การดูแลสุขภาพดีเป็นสิ่งสำคัญ การ Prevention สำคัญไม่น้อยกว่าการรักษา หากเราสามารถดูแลตนเองให้ดีได้ก็จะไม่เป็นภาระของเมืองในอนาคต เป็นหน้าที่ของเราทุกคนต้องดูแลตนเองให้ดี ลดโอกาสติดบ้าน ติดเตียง ให้มีกิจกรรม กทม.ก็หาพื้นที่สีเขียวเพิ่มให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย มีกิจกรรม ชมรมผู้สูงอายุ ฝึกอาชีพ การทำกิจกรรมคลังปัญญาให้ผู้สูงอายุมาร่วมแบ่งกันภูมิปัญญาเพื่อให้เค้ารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า
สำหรับประเด็นเคล็ดลับการดูแลสุขภาพจากประสบการณ์ส่วนตัว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจัยหลักของการเปลี่ยน Health และ Wealth คือ การสร้างนิสัย ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า Willpower หรือพลังใจ เป็นเรื่องสำคัญ ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตได้ในระยะยาว คนส่วนใหญ่ชอบสร้างความสุขในระยะสั้น ไม่ได้คิดถึงรางวัลในการอดทนในระยะยาว ดังนั้นเราจึงควรกำหนดรางวัลชีวิตในระยะยาว เนื่องจากคนจะมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น เปลี่ยนจากรางวัล Short Term เป็น Long Term ฝึกการอดทน การมีพลังใจ เพื่อสร้างนิสัยที่ดี ซึ่ง Health และ Wealth คือ เรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องของความต้องการพลังใจในการเปลี่ยนแปลง
“วิธีการสร้าง Willpower ซึ่งเป็นเคล็ดลับส่วนตัวคือ
วิธีที่ 1 การฝึกสมาธิ Willpower เหมือนกล้ามเนื้อ ยิ่งเราใช้มาก ยิ่งแข็งแรง และชนะได้
วิธีที่ 2 ตั้งเป้าหมาย เป้าหมายที่ดีคือไม่ต้องตั้งให้ใหญ่และยากเกินไป
วิธีที่ 3 จดบันทึก เพื่อทำให้เห็นความก้าวหน้า
วิธีที่ 4 หาข้อมูล เพื่อให้เข้าใจในรายละเอียด โดยอาจสอบถามจากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ
วิธีที่ 5 Willpower มีจำกัด ต้องใช้อย่างระมัดระวัง และตั้งเป้าหมายทีละเรื่อง และในขณะเดียวกันก็ต้องหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าด้วย
สุขภาพที่ดี เศรษฐกิจดี การเงินดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเองกรุงเทพมหานครจะดูแลให้แต่คงไม่สามารถทำให้คนทั้ง 100% ได้ ทุกคนต้องตั้ง Willpower และดูแลสุขภาพตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้ส่งผลเมื่อเราก้าวเป็นผู้สูงวัย “ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ในงานสัมมนา Health & Wealth Forum : สร้างสุขก่อนสูงวัย นอกจากการบรรยายโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน ด้านสุขภาพ รวมถึงที่อยู่อาศัยที่พร้อมรับผู้สูงวัยและคนทุกวัย มาร่วมให้ความรู้ อาทิ หัวข้อ คุณจะวางแผนทางการเงินอย่างไรให้ “การเงินดี” โดย คุณวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และคุณวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด หัวข้อ “นวัตกรรมการ “อยู่ดี” ผสานการท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพเป็นอย่างไร” โดย คุณ ศิริญา เทพเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และ หัวข้อ “หลังเกษียณ” เราต้องเตรียมพร้อมอย่างไรให้ “อยู่ดี” พบคำตอบจาก พญ.เทวิกา ศรีจำปา แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป รักษาการ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลธนบุรีบูรณา (Jinn Wellbeing County) เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น