เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 65 ณ ลานนิทรรศการ Beacon 2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน: นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดงานนิทรรศการ Super AI Engineer & Startup Exhibition 2022 ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand: AIAT) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Sirindhorn International Institute of Technology: SIIT) และพิธีมอบเหรียญรางวัล Super AI Engineer Season 2 ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารจัดการทุน ด้านการพัฒนากําลังคน การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ให้ดำเนินงาน “โครงการพัฒนานวัตกร-วิศวกร-นักวิจัย-วิสาหกิจเริ่มต้น ด้านปัญญาประดิษฐ์” หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า “สุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer)”
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในนามของบัณฑิตวิศวกรรู้สึกดีใจที่ศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI ได้รับการสนับสนุนจากหลาย ๆ ภาคส่วน ส่วนในนามของกรุงเทพมหานคร เราก็มีความท้าทาย 3 เรื่อง ที่คิดว่า AI เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์จะช่วยได้ ได้แก่1. การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง ยกตัวอย่างเช่น การที่ กทม. ได้มีการนำนวัตรกรรม Traffy Fondue ของ สวทช. มาใช้ในการรับแจ้งปัญหาของเมืองจากประชาชน จากตอนแรกที่ระบบยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเป็นรูปเกี่ยวกับอะไร แต่ปัจจุบันระบบ AI สามารถวิเคราะห์ได้เบื้องต้นว่าภาพนั้นคือภาพอะไร เป็นต้น
2. การลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาระบบการศึกษา โดยหน้าที่ของ AI ไม่ใช่เพียงแค่พัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพ แต่จะต้องเกิดประสิทธิภาพสำหรับทุกคน เข้าถึงทุกระดับ ซึ่งได้มีการหารือกันว่าจะสามารถนำเรื่อง AI เข้าสู่หลักสูตรทางการศึกษาได้หรือไม่
3. การดึงดูดคนเก่ง เพราะเมืองคือ Labor Market (ตลาดแรงงาน) สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจ และเมืองที่ดีจะต้องดึงดูดคนที่เก่งในมิติต่าง ๆ ให้ยังอยู่กับเมืองให้ได้ งานในวันนี้เป็นโครงการสำคัญที่ทำให้คนที่ร่วมโครงการ 5,000 กว่าคน หรืออย่างน้อย ๆ ผู้ที่ได้รับรางวัลในวันนี้อยู่กับเมือง เป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้เมืองดีขึ้น ถือเป็นโครงการที่ตอบสนองความท้าทายนี้อย่างมาก
โอกาสนี้ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้กล่าวถึงการจัดเทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกรุงเทพมหานคร ภายใต้ชื่อ “บางกอกวิทยา” ซึ่งเปิดพื้นที่ กทม. เป็นแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่ โดยเน้นย้ำว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เพียงวิชาการเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในทุก ๆ วัน พร้อมอวยพรให้โครงการ Super AI Engineer ประสบความสำเร็จ เสริมสร้างประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า เข้าสู่สังคมปัญญาประดิษฐ์อย่างรวดเร็วและยั่งยืนต่อไป จากนั้นจึงเดินเยี่ยมชมนิทรรศการ
สำหรับโครงการ Super AI Engineer ปีที่ 2 (Season 2) จัดขึ้นในปี 2564 ต่อจากโครงการปีที่ 1 (Season 1) ที่จัดในปี 2563 มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะในการพัฒนาความรู้ สร้างบุคลากรทางด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ซึ่งโครงการใน Season 2 นี้ มีผู้สมัครเข้าร่วมจำนวน 5,600 คน โดยเป็นผู้ผ่านการประเมินความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ ได้รับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเอไอขั้นสูงจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาด้านปัญญาประดิษฐ์ และผ่านการฝึกอบรมเข้มข้นอย่างน้อย 11 สัปดาห์ ได้รับเหรียญทอง จำนวน 9 คน เหรียญเงิน จำนวน 15 คน และเหรียญทองแดง จำนวน 52 คน
นอกจากนี้ ทางสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสมาชิกสมาคมจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนมากกว่า 50 แห่ง เพื่อดำเนินการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางโครงการได้เปิดรับสมัครผู้สนใจทั่วไป ไม่จำกัดอายุ เพศ สาขาวิชาชีพ เพื่อเข้าอบรมเอไอตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับกลาง แบบออนไลน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถสมัครได้ที่ เว็บไซต์ของสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย https://mooc.aiat.or.th/
สำหรับในงานนิทรรศการ Super AI Engineer & Startup Exhibition 2022 ประกอบด้วยการแสดงความสามารถจากผู้อบรมที่ได้รับรางวัล โปสเตอร์แสดงผลงานจากผู้เข้าอบรม การแสดงผลงานจากบริษัทต่าง ๆ อีกทั้งยังมีทีมที่สนใจธุรกิจ Startup AI ทั้งรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ที่ผ่านการบ่มเพาะจากสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) จำนวน 6 ทีม เข้ามา Pitching ต่อกลุ่มนักลงทุน มีงานเสวนาจากกลุ่มนักธุรกิจสายเอไอ และ Health Care โดย บริษัท ทัช เทคโนโลยี รวมทั้งเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมงาน ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารทางเว็บไซต์ https://superai.aiat.or.th และเฟซบุ๊ก www.facebook.com/aiat2015 หรือ www.facebook.com/SuperAIEngineer
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น