ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบถ้วยพระราชทานแก่ผู้ชนะการแข่งขันพร้อมมอบเงินรางวัล และกล่าวแสดงความยินดีแก่ทีมเรือที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รางวัลชนะเลิศที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ และถือเป็นถ้วยรางวัลแห่งเกียรติภูมิแก่ทีมเรือของตนเอง
"กรุงเทพมหานครคงจัดงานประเพณีแข่งเรือยาวด้วยเช่นกัน คิดว่าเป็นเดือนธันวาคม ก็จะเชิญทางจังหวัดนนทบุรีไปร่วมด้วย ผมว่าเป็นกิจกรรมที่ดี ทั้งส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรม เพราะว่ามันคือสายน้ำเดียวกันเป็นเส้นเลือดที่ร้อยชาวกรุงเทพมหานครและชาวจังหวัดนนทบุรีเข้าด้วยกัน นอกเหนือจากประเพณีวัฒนธรรม เชื่อว่ามิติของเศรษฐกิจก็สำคัญ การกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้าขายในเทศกาลแข่งขันเรือยาว" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณทีมนักพากย์ อาจจะต้องเชิญไปพากย์ที่กรุงเทพฯ ด้วย โดยเฉพาะนักพากย์รุ่นเด็ก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่น่าประทับใจ และสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างดี ขอบคุณคณะกรรมการจัดโครงการฯ ผู้ให้การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย สื่อมวลชนทุกแขนง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดโครงการแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทาน ประจำปี 2565 ในครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
ทั้งนี้ เทศบาลนครนนทบุรี ร่วมกับ สมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงเทพมหานคร จัดการแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ครั้งที่ 13 ประจำปี พ.ศ. 2565 ระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ริมเขื่อนท่าน้ำนนทบุรี อ.เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดยในปีนี้เทศบาลนครนนทบุรีได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่การแข่งขันเรือยาวประเพณีจังหวัดนนทบุรี ครั้งที่ 13 และเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้เข้าแข่งขัน ตลอดจนคณะกรรมการจัดการแข่งขัน และประชาชนชาวจังหวัดนนทบุรี
สำหรับการจัดแข่งขันแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เรือยาวเล็ก 30 ฝีพาย จำนวน 16 ลำ และเรือยาวใหญ่ 55 ฝีพาย จำนวน 16 ลำ เป็นการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในประเภทเรือยาวใหญ่ 55 ฝีพาย และชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในประเภทเรือยาวเล็ก 30 ฝีพาย
วัตถุประสงค์ในการแข่งขันครั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมการแข่งขันเรือยาว เอกลักษณ์และมรดกของชาติ รวมไปถึงส่งเสริมการแข่งขันกีฬาทางน้ำ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างช่องทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น