ผู้ว่าฯ สัญจร เขตทุ่งครุ ชี้ปัญหาหลักคือเรื่องจราจร เตรียมวางแผนเชื่อมโยงการเดินทาง และพัฒนาระบบสาธารณสุขในพื้นที่..D - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ผู้ว่าฯ สัญจร เขตทุ่งครุ ชี้ปัญหาหลักคือเรื่องจราจร เตรียมวางแผนเชื่อมโยงการเดินทาง และพัฒนาระบบสาธารณสุขในพื้นที่..D

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร เขตทุ่งครุ วันนี้ว่า เขตทุ่งครุมีการขยายตัวของประชากรบริเวณนี้มาก เนื่องจากที่ดินอยู่ไม่ไกลจากเมือง และมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาหลายแห่ง ทำให้เดินทางเข้าเมืองสะดวก มีหมู่บ้าน 125 โครงการ มีประชากรกว่า 120,000 คน เป็นเขตที่เจริญเติบโตเร็วและมีปัญหาตามมา เรื่องจราจรเป็นปัญหาอันดับ 1 มีถนนเส้นหลัก ๆ คือ ถนนเลียบด่วน ถนนประชาอุทิศ ถนนพุทธบูชา เส้นเลียบด่วนรถติดมหาศาล ซึ่งมีโครงการที่จะทำเป็นวันเวย์ เพื่อลดการเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาตัดกัน แต่อาจจะมีประชาชนไม่เห็นด้วย ต้องดูว่าจะแก้ด้วยวิธีนี้ดีหรือไม่ ส่วนปัญหาเรื่องน้ำท่วมไม่ได้มีเยอะมาก เพราะมีคลองที่ไปได้หลายทาง ยกเว้นพื้นที่ในซอยเอกชนที่ยังไม่ได้ยกให้เป็นที่สาธารณะ ซึ่ง กทม. ยังเข้าไปดูแลพื้นที่โดยละเอียดไม่ได้

ด้านระบบสาธารณสุขในอนาคตคงต้องดูให้ละเอียดขึ้น ในเขตทุ่งครุไม่มีโรงพยาบาลเลย ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ในส่วนของ กทม. มีศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 2 แห่ง คือ ศบส. 54 และศบส. 59 ปัญหาคือ ศบส. 54 อัตรากำลังไม่ครบ ฝากรองผู้ว่าฯ ทวิดา ให้เร่งหาอัตรากำลังเข้ามาเพิ่มเติม แล้วก็ดูความเป็นไปได้ว่าสุดท้ายแล้วมีความจำเป็นที่ต้องมีโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่นี้ เพราะว่ามีการขยายตัวของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น

ในเขตทุ่งครุมีพื้นที่ที่เป็นของ กทม. หลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร แห่งที่ 2 ทุ่งครุ ซึ่งเป็นจุดสำคัญ ผู้ว่าฯ ได้ย้ำว่าจะต้องพัฒนาเนื้อหาให้ดี ให้เด็กและผู้ปกครองอยากมา นอกจากนนี้ก็มีศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ (บางมด) มีค่ายลูกเสือกรุงธน มีหลายที่ที่จะพัฒนาให้เข้มแข็ง มีโรงเรียนฝึกอาชีพ คงต้องไปเอาหลักสูตรต่าง ๆ เข้ามา เพื่อให้คนทุ่งครุและพื้นที่ใกล้เคียงใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ ได้แนะนำการพัฒนาคลองบางมด ซึ่งเป็นคลองหลักของเขตทุ่งครุ โดยต้องการทางเดิมริมคลองและไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อให้มีทางสัญจรได้มากขึ้นและกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น มีพิพิธภัณฑ์ชุมชนเล็ก ๆ ใต้สะพานริมคลองบางมด อยากจะให้มีการเปิด-ปิดและมีคนเข้าไปดูแล ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ชุมชนที่ กทม. จะส่งเสริมอยู่แล้ว ด้านการจราจรมีปัญหา ในอนาคตต้องดูว่าจะมีการเชื่อมโยงอย่างไร จะมี Feeder เป็นรถเมล์ หรือตัดถนนเพิ่มที่อยู่ในแนวเวนคืนอยู่

ในช่วงบ่ายผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงพื้นที่บริเวณอาคารสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้างประจำกรุงเทพมหานคร ซอยประชาอุทิศ 90 (แฟลตทุ่งครุ) โดยในอนาคตจะปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ว่างให้เป็นสวนสุขภาพและลานกีฬา และเยี่ยมชมศูนย์เยาวชนทุ่งครุ ซึ่งมีการปรับให้เป็นศูนย์พักคอย และประชาชนได้ร้องขอให้เปิดการให้บริการศูนย์เยาวชนตามปกติ โดยผู้ว่าฯ กทม. ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตทุ่งครุพิจารณา หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ก็สามารถคืนพื้นที่ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจบริเวณแฟลตที่มีปัญหาชำรุดทรุดโทรม เช่น บริเวณใต้ถุนอาคารมีปัญหาระบบท่อระบายน้ำรั่ว เป็นต้น เพื่อพิจารณาขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการซ่อมแซมต่อไป

จากนั้น ได้ลงพื้นที่บริเวณถนนเลียบทางด่วนซึ่งมีปัญหาการจราจรติดขัด เพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาการจราจร ร่วมกับ หน่วยงานต่างๆ และตรวจเยี่ยมชุมชนใต้สะพานโซน 1 รับฟังการแก้ไขปัญหาขยะ PU โฟม ที่เกิดจากการแกะตู้เย็นเก่าและไม่มีที่ทิ้ง หารือแนวทางแก้ไขปัญหาขยะ PU โฟมในพื้นที่อย่างยั่งยืน พร้อมพูดคุยกับเยาวชนในชุมชนโครงการ 'ลมใต้ปีก' โดย มูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ มูลนิธิกิรัน แคร์ และคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

นอกจากนี้ ยังได้พูดคุยถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชน เพื่อสอบถามปัญหาสารทุกข์สุขดิบและความต้องการ โดยประชาชนขอความอนุเคราะห์ให้ลอกท่อ ทาสีลูกระนาดใหม่ และขอช่างซ่อมรถ โดยผู้ว่าฯ ให้เขตลองดูว่ารถที่เสียพอจะเป็นรถครูให้ศูนย์ฝึกอาชีพซ่อมได้หรือไม่ และเด็ก ๆ อยากได้อุปกรณ์กีฬา ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานเขตดำเนินการต่อไป

"ฝากเรื่องการทิ้งขยะ ต้องทิ้งในจุดที่มีการอนุญาต เรื่องเด็กก็สำคัญ ต้องให้เขาไปเรียนหนังสือ อย่าให้ออกจากโรงเรียน น้อง ๆ ก็ต้องพยายามเรียนต่อให้ได้ ผมว่าอนาคตสำคัญ อย่างน้อยมีการศึกษาก่อน ถึงจุดหนึ่งก็ไปต่อได้ ถ้ามีปัญหาอะไรบอกฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ และผอ.เขต ก็ลงมาดูว่ามีอะไรพอช่วยเหลือได้บ้างด้วย อย่าให้เด็กหลุดออกจากระบบ เพราะหลุดแล้วกลับไปยาก" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น