เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 65 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและการเรียนรู้ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารหรือผู้แทนจากสำนักการศึกษา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักพัฒนาสังคม กทม. พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการอ่านและการเรียนรู้ อาทิ นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องเอราวัณ ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนครกรุงเทพมหานครร่วมมือหน่วยงานหลายภาคส่วน สนับสนุนเด็ก กทม. ให้รักการอ่าน มุ่งพัฒนาการเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยที่ประชุมได้รายงานถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและการเรียนรู้ ร่างคำสั่งแต่งแต่งคณะกรรมการเพิ่มเติม และให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการดำเนินงานส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและการเรียนรู้ ซึ่งแบ่งตามภารกิจภายใต้สำนักต่าง ๆ ดังนี้
- สำนักการศึกษา: คณะอนุกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและการเรียนรู้ (Open education)
- สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว: คณะอนุกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านและการเรียนรู้นอกห้องเรียน (ห้องสมุด บ้านหนังสือ ศูนย์เยาวชน พิพิธภัณฑ์เด็ก พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น)
- สำนักพัฒนาสังคม: คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน
สำนักการศึกษา ได้กล่าวถึง Open Education ว่าเริ่มต้นมาจากโครงการต่าง ๆ ในนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาทิ พี่สอนน้อง After School Program เปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่การเรียนรู้ นำมาควบรวมกันภายใต้ Open Education ซึ่งปัจจุบันได้ทำการสำรวจโรงเรียนในสังกัดจำนวน 437 แห่ง ว่ามีความต้องการเรียนรู้เรื่องอะไร สะดวกเรียนรู้ในวันใด เช่น เวลาเย็นหลังเลิกเรียน วันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ จากนั้นจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ สรรหาครูอาสาและองค์กรเอกชนหรือภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมสอน อบรมครูอาสา เตรียมระบบในการสอน ซึ่งคาดว่าเดือนหน้าจะได้รายชื่อหลักสูตร และจะเริ่มเรียนในเดือน พ.ย. 65 (ช่วงเปิดภาคเรียนที่ 2) โดยจะมีการวัดผลหรือแสดงผลงานของนักเรียนในโครงการด้วย
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) ได้กล่าวถึงกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ที่จะดำเนินการ ได้แก่ Library for all หอสมุดเมืองเพื่อทุกคน Library Hopping เปิดห้องสมุดสำหรับคนทุกสไตล์ ปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมของห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร Holiday Book Club วงหนังสือวันหยุด เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องหนังสือ โดยรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แนะนำให้รวม “หนังสือในสวน” เข้าในแผนห้องสมุดด้วย
สวท. ยังได้รายงานจำนวนบ้านหนังสือกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมี 140 แห่ง ในพื้นที่ 39 เขต โครงการนำร่องพัฒนาบ้านหนังสือ 15 แห่ง ให้มีความทันสมัย น่าใช้งาน ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับสถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ Thailand Knowledge Park (TK Park) ตารางกิจกรรม Library Alive ห้องสมุดมีชีวิต ร่วมกับ OKMD อาทิ กิจกรรมนั่งรถไฟไปห้องสมุด ซึ่งจะจัดทริปนั่งรถไฟไปห้องสมุดวัดราชโอรสารามและเยี่ยมชมวัดราชโอรสารามที่เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 จากนั้นนั่งรถไฟไป “ซ่อมหนังสือแสนรัก” ที่ห้องสมุดบางบอน เป็นต้น รวมถึงเทศกาลเด็กและเยาวชน ที่จะจัดขึ้นในเดือน ก.ย. 65 BKK RANGER รวมพลังเด็กเปลี่ยนเมือง โดยสำนักการศึกษาได้กล่าวเสริมว่าจะมีกิจกรรมโต้วาทีในเทศกาลดังกล่าวด้วย
ในส่วนของสำนักพัฒนาสังคม ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เป้าหมายปี 65 การบูรณาการฐานข้อมูลเด็กเล็ก บุคลากร เป็นรูปแบบออนไลน์ ถอดบทเรียนศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนและกลไกการดูแลเด็กเล็กต้นแบบ พัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ ฯลฯ เป้าหมายปี 66 อาทิ ปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กติกา และการจัดการปรับค่าตอบแทน จัดอบรมครูพี่เลี้ยงต่อเนื่อง มีเงินอุดหนุนเด็กเล็ก สวัสดิการหนังสือ การเรียนรู้ผ่านการเล่น คุณแม่ตั้งครรภ์ ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก เป็นต้น และเป้าหมายระยะยาว เช่น เด็กเล็กในกทม.ได้รับการดูแลผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น กลไกร่วมกับชุมชน เครือข่ายผู้ปกครอง เอกชน มูลนิธิ สถาบันต่าง ๆ มีการส่งต่อกรณีเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สร้างพัฒนาการและการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัย อาทิ การเรียนรู้ผ่านการเล่น การสร้าง ทักษะ EF หรือ Executive Functions (ทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง ซึ่งช่วยให้คนเราสามารถควบคุม ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตนต้องการสำเร็จ) มีความสามารถในการจดจำ มีความยืดหยุ่นทางความคิด และมีความสามารถในการควบคุมและยับยั้งตนเอง รวมถึง กทม.มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีครูพี่เลี้ยง เด็กและกลไกการดูแลที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และเพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะเด็กในกลุ่มเปราะบาง เด็กที่ไม่อยู่ในระบบ เป็นต้น (ขอบคุณภาพและข่าวจากเพจprbangkok)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น