รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ได้ตระหนักถึงสิทธิและความเท่าเทียมของประชาชนในทุกกลุ่ม ทุกคนควรได้รู้สึกภูมิใจในตัวตนและคนที่รัก และมีสิทธิที่จะแสดงออกอย่างเสรีตามที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดวาระการพัฒนาสุขภาพที่ยั่งยืนของประชากรโลก โดยกำหนดว่าภายในปี 2030 ผู้คนทั่วโลกกำลังดำเนินการไปสู่เป้าหมายโลกที่สะท้อนความยุติธรรมสากลทางด้านสุขภาพที่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยให้คำมั่นว่าจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ซึ่งกรุงเทพมหานครมีความมุ่งมั่นในการเป็นต้นแบบของจังหวัดที่มีการจัดบริการสุขภาพในกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่ม LGBTQI+ โดยการสร้างระบบบริการสุขภาพที่เป็นธรรม เข้าถึงได้ ผู้ให้บริการสามารถสื่อสารได้อย่างเหมาะสม สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร มีทัศนคติที่เปิดกว้าง ไม่ตัดสินผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงกำหนดเป็นนโยบาย “นำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย” เพื่อสร้างสวัสดิการของรัฐที่ครอบคลุมความหลากหลายของมนุษย์
โดยได้ดำเนินการนำร่องจัดตั้ง “คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กรุงเทพมหานคร” (BKK Pride Clinic) ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. เฟสแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร และตั้งเป้าให้ครบทั้ง 11 โรงพยาบาลในสังกัด ในส่วนของศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย กทม. มีแผนจะนำร่องเปิดให้บริการใน 16 แห่ง โดยเฟสแรกเปิดแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา และศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี เขตคลองสาน พร้อมเตรียมเปิดเฟสที่สองเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง คือ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 บางซื่อ เขตบางซื่อ ศูนย์บริการสาธารณสุข 25 ห้วยขวาง เขตห้วยขวาง ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี เขตมีนบุรี และศูนย์บริการสาธารณสุข 48 นาควัชระอุทิศ เขตหนองแขม
การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นอีกจุดที่สำคัญในการยกระดับการให้บริการและการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร สร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศ และสร้างการให้บริการที่สนับสนุนปัจเจกบุคคล ไม่ให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกเลือกปฏิบัติ โดยผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาคลินิก นักวิชาการสาธารณสุข ตลอดจนบุคลากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาแพทย์ประจำบ้าน จากโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช และมหาวิทยาลัยสงขลาศรีนครินทร์ (ม.อ.) หาดใหญ่ เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ด้วย รวมจำนวนทั้งสิ้น 61 คน (ขอบคุณข่าวและภาพจากเพจprbangkok.com)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น