เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 65 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน : นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “คัดสรรสุดยอดของฝากจากกรุงเทพฯ (Made in Bangkok : Top-Ranked Collections)” ซึ่งสำนักงานการต่างประเทศจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสทางการค้าและส่งเสริมการตลาดกับผู้ซื้อชาวต่างชาติ ทำให้ผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand) เป็นที่รู้จักและสามารถเข้าถึงผู้บริโภค ต่างประเทศได้มากขึ้น โดยสำนักพัฒนาสังคมได้คัดเลือกผู้ประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Bangkok Brand ตามโครงการคัดสรรผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานครที่มีความโดดเด่น และเป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ มาจัดแสดงสินค้าและประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ฯ จำนวน 4 ประเภท รวม 20 ราย ได้แก่ 1. อาหารและเครื่องดื่ม 2. ผ้าและเครื่องแต่งกาย 3. ของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก และ 4. สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร โดยให้ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย จำนวน 49 สถานทูต และชุมชนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ร่วมลงคะแนนและจัดอันดับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมให้เป็นของขวัญของฝากให้ชาวต่างชาติ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้ไปประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างประเทศได้รู้จักและซื้อเป็นของขวัญหรือของฝากจากประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นต่อไป
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอขอบคุณประเทศต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand ซึ่งมีทั้งเอกอัครราชทูต อุปทูต และผู้แทนจากสถานทูต ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวม 49 ประเทศ รวมถึงผู้แทนชุมชนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่ได้มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ สำหรับกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมุ่งสร้างภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานครและบอกกล่าวชาวต่างชาติให้ทราบว่ากรุงเทพมหานครมีของดีมากมาย เช่น ผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand จริง ๆ กรุงเทพมหานครมีผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand มากกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ แต่วันนี้ได้นำผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อบางส่วนมาให้ผู้แทนจากสถานทูตต่าง ๆ ได้ลงคะแนนและคัดเลือกว่าชอบผลิตภัณฑ์อะไร ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ได้ทราบมุมมอง ความคิดของผู้แทนชาวต่างประเทศจาก 49 ประเทศ ว่าชอบผลิตภัณฑ์อะไร โดยกรุงเทพมหานครจะนำข้อมูลที่ได้มาเป็นแนวทางในการพัฒนาส่งเสริมผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand ให้ตรงกับความต้องการของชาวต่างชาติ และนำไปสู่การขยายผลการตลาดให้กว้างขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ สำนักพัฒนาสังคมเป็นหน่วยงานที่ดูแลผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาว่าผลิตภัณฑ์ใดที่ผ่านเกณฑ์และได้รับตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะต้องเข้าหลักเกณฑ์และมาตรฐานตรงตามที่กำหนดไว้ ไม่ใช่ได้มาง่าย ๆ แต่ก็ไม่ยากเกินไป และจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหลายประเทศ พบว่าหลายประเทศให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมและถือเป็นโมเดลหนึ่งที่ทางต่างประเทศจะนำไปดำเนินการด้วย ซึ่งในอนาคตอยากจัดกิจกรรมให้ใหญ่กว่านี้โดยเป็นการรวมผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand และเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและขยายตลาดผลิตภัณฑ์ Bangkok Brand เพิ่มขึ้น
(พัทธนันท์...สปส. รายงาน) เศรษฐกิจดี ขอบคุณภาพและข่าวจากเพจ prbangkok.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น