เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 65 นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร แถลงข่าว “ผลการดำเนินงาน 60 วัน และการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานคร” โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ร่วมแถลง ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
โฆษกของกทม. กล่าวว่า “ผลการดำเนินงาน 60 วัน และการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานคร” หรือ 60+ วัน ซึ่งมีอยู่ 6 มิติ มิติที่ 1 เรื่อง สาธารณสุข มิติที่ 2 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ มิติที่ 3 เรื่อง เมืองสร้างสรรค์ มิติที่ 4 เรื่อง ฟื้นเศรษฐกิจเมือง มิติที่ 5 เรื่อง เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหา และมิติที่ 6 เรื่อง การปลูกต้นไม้
● มิติที่ 1 สาธารณสุข:
กทม.ได้มีการปรับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิดเดิม (ศบค.กทม.) ให้เป็นศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร (Bangkok Health Emergency Operations Center : BHEOC) โดยดึงภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งมีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทั่วถึง จึงนำมาเป็นบทเรียนและตั้งศูนย์ฯ นี้ขึ้นมา เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินทางสุขภาพทุกรูปแบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบกับวิกฤตสาธารณภัย ภัยพิบัติ ตลอดจนการแพร่ระบาด ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
ด้านสถานการณ์โรคโควิด-19 ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมมีผู้ป่วยโควิดที่มารับบริการ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข รพ.ในสังกัดสำนักการแพทย์ และวชิรพยาบาล รายใหม่ 3,317 ราย สะสม (1 ก.ค. - 2 ส.ค. 65) 91,666 ราย ในขณะที่สถานการณ์เตียงตลอดเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา รพ.สังกัดสำนักการแพทย์ กทม. เพียงพอรองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงในกรุงเทพฯ ในส่วนของยาก็มีจำนวนเพียงพอรองรับกับจำนวนผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ หรือแพ็กซ์โลวิด รวมถึงยาชนิดอื่น ซึ่ง กทม. ยังคงรับมือได้
ในส่วนของการให้บริการฉีดวัคซีน กทม. ได้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยขยายเวลาให้บริการเพิ่มในวันเสาร์ ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 69 แห่ง ตามเวลาราชการ และสามารถ walk-in ได้ที่อาคารกีฬาเวศน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.00 น. ในส่วนโรงพยาบาล กทม. ทั้ง 11 แห่ง เปิดให้บริการทั้งระบบจองคิวและ walk-in
กรณีโรคฝีดาษวานร ซึ่งพบผู้ป่วยรายแรกใน กทม. เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 65 กทม.สามารถดำเนินการเข้าสอบสวนโรค และดำเนินการควบคุมเฝ้าระวังผู้สัมผัสเสี่ยงใกล้ชิดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดขึ้นได้จากมีการเตรียมความพร้อมรับมือประเมินสถานการณ์ไว้ก่อนหน้า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 65 ได้ประชุมถอดบทเรียนการรับมือโรคฝีดาษวานรในสถานพยาบาล โดยมีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 190 แห่ง นอกจากนี้ ยังให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการรักษาพยาบาล การส่งต่อ และการป้องกันการติดเชื้อฝีดาษวานรในสถานพยาบาล รวมทั้งการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อด้วย
● มิติที่ 2 การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ และการต่อต้านทุจริต
การเปิดสัญญาสัมปทาน BTS เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 65 มีการเปิดสัญญาจ้างระหว่างกรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในส่วนสัญญาจ้างบริหารระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร และบันทึกข้อตกลงการมอบหมายกิจการในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 หลังจากเดือนก่อนหน้า กทม.ได้มีการเปิดเผยงบประมาณ กทม. ปี 2566 และการเปิดเผยคำสั่งต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อความโปร่งใส และเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบและดูรายละเอียดได้ที่ https://main.bangkok.go.th/ หัวข้อ open data
เรื่องต่อมาคือ กล้อง CCTV ซึ่งทั่ว กทม. มีทั้งหมด 62,000 กล้อง ที่ผ่านมาใช้เวลานานในการขอภาพวงจรปิด ขณะนี้ กทม.ได้เปิดให้มีการขอภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) ของ กทม.ทางออนไลน์ได้แล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ไม่สะดวกเดินทางมาขอภาพด้วยตนเอง สามารถขอดูภาพย้อนหลังได้ ภายใน 24 ชม. โดยวิธีการขอทำได้ 2 ช่องทาง คือ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th และไลน์ @CCTVBANGKOK ในการขอแต่ละครั้งจะสามารถขอได้ครั้งละไม่เกิน 6 กล้อง โดยเตรียมเอกสารและข้อมูลตามระบบ ซึ่งตลอดเดือน ก.ค. 65 มีผู้มาขอใช้บริการได้ภาพทั้งหมด 166 ราย โดยมี 158 ราย ได้ภาพ ส่วนอีก 8 ราย ไม่ได้ภาพ เนื่องจากเกินระยะเวลาบันทึกภาพ (7 วัน) และบางจุดกล้องชำรุด/ระบบภาพขัดข้อง โดยปัจจุบันได้รับการแก้ไขแล้ว นอกจากนี้ กทม. ได้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ด้วยการให้ประชาชนสามารถเลือกกล้องจากในระบบได้ โดยดูจากแผนที่และถนนที่เกิดเหตุ
ในส่วนของการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริต 5 ข้อ (Quick Win) เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 65 กทม. ได้ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของผู้บริหาร กทม. ในการต่อต้านทุจริต “ไม่เฉย ไม่ทำ และไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ” สอดคล้องกับนโยบาย 216+ นโยบาย “ลดเสี่ยงโกงผ่านความร่วมมือภาคีเครือข่ายประชาชน” และ “โปร่งใส ไม่ส่วย”
● มิติที่ 3 เมืองสร้างสรรค์:
เริ่มที่เทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ซึ่งเป็นนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาล โดยฉายภาพยนตร์ให้ประชาชนได้ชมฟรี เปิดตัวกิจกรรมเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 65 มีการฉายหนังกลางแปลง เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ณ ลานคนเมือง มีผู้เข้าชมมากที่สุด ประมาณ 10,000 คน ในรอบ 1 เดือนนี้มีการฉายภาพยนตร์ไปทั้งสิ้น 26 เรื่อง จำนวนผู้เข้าชมงานโดยประมาณ 88,368 คน จำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมจำหน่ายสินค้า 345 ร้าน มีประมาณการรายรับของร้านค้าที่ออกร้านโดยรอบ รวม 4,330,865 บาท ซึ่งถือว่าเทศกาลกรุงเทพกลางแปลงทำให้กรุงเทพฯ กลับมามีชีวิตชีวา มีส่วนช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนกรุงเทพฯ กระตุ้นร้านค้ารายย่อยต่าง ๆ ให้มีความคึกคัก และสนับสนุนให้กรุงเทพฯ กลายเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
ต่อด้วยการประชันวงศ์ดุริยางค์นัดกระชับมิตร ระหว่างตัวแทนนักเรียนใน กทม. และตัวแทนนักเรียนจากจังหวัดนครราชสีมา ณ อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก เขตบางกะปิ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 65 ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกัน คือ กทม. กับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งผลการจัดงานได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาชมในสนาม รวมทั้งรับชมการถ่ายทอดสด ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้เห็นประโยชน์ในหลายมิติ อาทิ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเมืองให้แน่นแฟ้นกันมากยิ่งขึ้น เปิดเวทีส่งเสริมให้นักเรียนที่มีความสามารถได้แสดงฝีมือด้านดนตรีและศิลปวัฒนธรรม กระตุ้นด้านเศรษฐกิจเมือง และการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองเมือง นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกทม.ได้แสดงศักยภาพความเป็นมืออาชีพในการจัดงานโดยไม่ต้องใช้ออแกไนเซอร์ เป็นการประหยัดงบประมาณได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนกิจกรรม
ในส่วนงานดนตรีในสวน ได้มีการจัดกิจกรรมตั้งแต่เดือนมิถุนายน และยังมีจัดอยู่ต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งตลอดเดือน ก.ค. 65 มีการจัดกิจกรรมดนตรีในหลากหลายสถานที่ รวมจำนวน 21 วัน 53 ครั้ง
นโยบายอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ด้าน co-working space โดยปรับให้ 12 ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่สำหรับการทำงานด้วย ซึ่งสามารถใช้พื้นที่ ใช้เสียงได้ เป็นการเปิดพื้นที่ต้นแบบแห่งการเรียนรู้ เพื่อให้ประชาชนสามารถหยิบหนังสือมาอ่านและทำงานไปได้พร้อม ๆ กัน สำหรับ 12 เทศกาล ในเดือน ส.ค. นี้ เป็นเทศกาล “บางกอกวิทยา” ซึ่งเป็นการทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก เป็นส่วนหนึ่งของทุกคนในเมือง มีกิจกรรมออกไปตามชุมชน ที่สำคัญคือส่งเสริมให้เด็ก ๆ สนใจและชอบวิทยาศาสตร์มากขึ้น คิดเชิงตรรกะและเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ผ่านเพจ “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์”
● มิติที่ 4 ฟื้นเศรษฐกิจเมือง:
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคมและสำนักงานเขต ได้เริ่มการจ้างงานคนพิการเพื่อเป็นอาสาสมัครปฏิบัติงานในสำนักพัฒนาสังคม และ 27 สำนักงานเขต แล้วจำนวน 95 คน กลางสิงหาคมนี้จะเพิ่มมาอีก 20 คน รวมเป็น 115 คน โดยตั้งเป้าจ้างงานคนพิการหน่วยงานละ 6 คน รวมจำนวน 306 คน ในช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย. 65 ซึ่งจะทำให้การจ้างคนพิการเป็นไปตามเป้าหมาย 654 คน ภายใน ก.ย. นี้ โดยจะเน้นให้คนพิการทำงานอย่างมีศักดิ์ศรี และจัดประเภทงานให้เหมาะกับผู้พิการ นอกจากนี้ยังสำรวจพื้นที่ภายในตลาด 12 แห่ง ที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งตลาดชุมชน จัดหาพื้นที่ให้แก่คนพิการได้ทำการค้าขาย เพื่อเป็นการส่งเสริมรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอีกด้วย โดยมีการจ้างงานคนพิการครบทั้ง 7 ประเภท ซึ่งประกอบด้วย ความพิการทางการเห็น ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ความพิการทางสติปัญญา ความพิการทางการเรียนรู้ และความพิการทางออทิสติก
สำหรับกิจกรรมถนนคนเดิน ได้ดำเนินการต่อเนื่องในหลายเขต เช่น สาทร บางรัก และมีการสำรวจพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมถนนคนเดิน ในย่านสร้างสรรค์ 15 ย่าน พร้อมทั้งพัฒนาโครงการกรุงเทพอาหารริมทางอร่อยปลอดภัย Bangkok Safety Street Food โดยเริ่มจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เพื่อให้สามารถติดตามการดำเนินการและสามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ เป้าหมายคือจะยกระดับ Street food และพัฒนาคุณภาพอาหารของร้านอาหารที่มากกว่า 20,000 ร้าน โดยจัดกลุ่ม Street food เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ตลาดในชุมชน 2. ตลาดในเมือง 3. ตลาดนักท่องเที่ยว
● มิติที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการบริการและแก้ไขปัญหา:
ในเดือน ก.ค. 65 มีผู้ใช้ Traffy Fondue รายงานปัญหา 113,881 เรื่อง โดย 5 ปัญหาร้องเรียนมากที่สุด (ไม่รวมปัญหาอื่น ๆ) ได้แก่ ถนน 19.1% น้ำท่วม 6.8% ทางเท้า 5.7% แสงสว่าง 5.6% และความปลอดภัย 4.9% ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา สำเร็จ 47% กำลังแก้ไข 19% ส่งต่อหน่วยงานแล้ว 30% รอรับเรื่อง 1% ที่สำคัญมีหัวข้อกรุงเทพฯ โปร่งใส สำหรับร้องเรียนเรื่องทุจริต
นอกจากนี้ ยังได้ขยายศูนย์ One Stop service 50 เขต ปัจจุบันมี 16 สำนักงานเขตที่มีศูนย์บริหารราชการฉับไวใสสะอาด (BANGKOK FAST & CLEAR ) หรือศูนย์ BFC ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ที่ให้ประชาชนมารับบริการที่เขตแล้วจบที่จุดเดียวได้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการไปแล้วว่า ให้อีก 34 เขตที่เหลือดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี รวมทั้งให้ปรับการบริการเป็นดิจิทัลมากที่สุด ทั้งการยื่นเอกสารและการขออนุญาต ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดความโปร่งใสมากขึ้น
สำหรับผู้ว่าฯ สัญจร 50 เขต ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ สัญจร รวม 3 ครั้ง ในเขตจตุจักร เขตบางบอน เขตปทุมวัน ในทุกครั้งจะให้ความสำคัญกับลูกจ้างซึ่งเปรียบเสมือนโซ่ข้อสุดท้ายที่เชื่อม กทม. เข้ากับประชาชน เช่น คนงานกวาด คนงานเก็บขนมูลฝอย คนงานสวน คนงานเก็บสิ่งปฏิกูล ฯลฯ โดยชวนมานั่งร่วมโต๊ะมื้อกลางวัน เพื่อรับฟังสารทุกข์สุกดิบเกี่ยวกับการทำงาน การใช้ชีวิต เป็นการรับฟังปัญหาจากคนงานที่อยู่ใกล้ชิดพื้นที่โดยตรง
● มิติที่ 6 การปลูกต้นไม้:
โครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น สร้างการมีส่วนร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพิ่มพื้นที่สีเขียว เริ่มเป็นกำแพงกรองฝุ่นแล้ววันนี้ โดย ณ วันที่ 3 ส.ค. 65 มีการปลูกต้นไม้ตามโครงการฯ ไปแล้วทั้งหมด 82,248 ต้น แบ่งเป็น ไม้ยืนต้น 27,186 ต้น ไม้พุ่ม 45,818 ต้น ไม้เลื้อย 9,244 ต้น ยอดจองปลูกต้นไม้ 1,641,360 ต้น ขณะนี้ประชาชนสามารถบันทึกการปลูกต้นไม้ที่ตนเองปลูกและติดตามการเติบโตของต้นไม้ได้ด้วยตนเอง ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ “ปลูกอนาคต” (Line @tomorrowtree)
นอกจากนี้ ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา กทม.ได้ประสานความร่วมมือด้านการพัฒนากรุงเทพมหานครในมิติต่าง ๆ กับหน่วยงานภายนอกจากหลายภาคส่วน รวมทั้งหมด 31 ครั้ง โดยเป็นหน่วยงานรัฐ 10 ครั้ง หน่วยงานต่างประเทศ 10 ครั้ง ภาคประชาสังคม 5 ครั้ง เอกชน 3 ครั้ง และการศึกษาวิจัย 3 ครั้ง
● การเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานคร:
ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงถึงสถานการณ์น้ำและการแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ กทม. ว่า ปัจจุบัน กทม.มีท่อระบายน้ำยาว 6,564 กิโลเมตร ตั้งเป้าลอกท่อไว้ที่ 4,630 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 2,400 กิโลเมตร ส่วนการขุดลอกคลอง 1,980 คลอง ความยาว 2,745 กิโลเมตร ได้ดำเนินการลอกคลองเอาเลนออก 27 กิโลเมตร และจะทำทั้งหมดอีก 98 กิโลเมตร ตามแผนของสำนักการระบายน้ำ ขณะที่การลอกคลองเปิดทางน้ำไหลโดยสำนักงานเขต ดำเนินการไปแล้วประมาณ 1,500 กิโลเมตร สำหรับอุโมงค์ระบายน้ำใน กทม. มี 4 แห่ง ความยาว 19 กิโลเมตร ได้แก่ อุโมงค์ประชาราษฎร์ สาย 2 อุโมงค์คลองบางซื่อ อุโมงค์คลองแสนแสบ และอุโมงค์บึงมักกะสัน ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์คลองเปรมประชากร อุโมงค์คลองทวีวัฒนา อุโมงค์คลองแสนแสบส่วนต่อขยาย และอุโมงค์บึงหนองบอน คาดว่าจะมีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 152 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนสถานีสูบน้ำมี 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 316 แห่ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมขังใน กทม. สำหรับการระบายน้ำในถนนสายหลัก จะมีเซนเซอร์รายงานน้ำท่วม แต่ในซอยย่อยจะไม่มี จึงต้องอาศัยข้อมูลจากการรายงานเหตุของประชาชนผ่าน Traffy Fondue ทั้งนี้ สำนักระบายน้ำได้ปรับจุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ กทม.จาก 9 จุด เหลือ 7 จุดแล้ว ปัญหาที่พบคือ การปรับปรุงสถานีสูบน้ำ ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มที่รวมถึงการเฝ้าระวังจุดน้ำท่วมซ้ำซากในถนนสายรอง
“ก็ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาความล่าช้าจากการปรับปรุงพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ หรือจุดเฝ้าระวัง เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องไขน็อตในการเร่งรัด ที่จะทำให้แต่ละโครงการเสร็จให้เร็วกว่านี้ ตอนนี้ล่าช้ามาพอสมควรแล้ว จะเป็นมาตรการที่เราต้องทำเพิ่มเติมเข้าไป สำหรับข้อมูลจุดน้ำท่วมในถนนสายรอง เราก็นำข้อมูลที่พี่น้องประชาชนแจ้งเข้ามา นำมาอยู่ในฐานข้อมูล และส่งทีมงานเข้าไปสำรวจเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร เช่น เป็นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำในคลองสูง พอเรารู้ปัญหาแต่ละที่ เราจะได้หาทางแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่ และขอความร่วมมือประชาชนทุกท่าน พยายามลดการทิ้งขยะให้น้อยลง ถ้าขยะอยู่หน้าบ้านอาจจะเก็บเข้าไปไว้ในบ้านก่อนเพื่อรอให้ฝนหาย ซึ่งหากมัดปากถุงไม่แน่น ขยะอาจจะปลิวไปอุดตันท่อระบายน้ำได้ และจะทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำทั้งในระดับเส้นเลือดฝอยรวมถึงเส้นเลือดหลักลดลง” รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าว :ขอบคุณภาพและข่าวจากเพจ prbangkok.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น