ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชี้ระบบสาธารณสุขดีถ้าเส้นเลือดฝอยและปฐมภูมิเข้มแข็ง กำชับเฝ้าระวังฝีดาษลิง สังเกตอาการ 21 วัน - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชี้ระบบสาธารณสุขดีถ้าเส้นเลือดฝอยและปฐมภูมิเข้มแข็ง กำชับเฝ้าระวังฝีดาษลิง สังเกตอาการ 21 วัน


เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต้อนรับคณะศึกษาดูงานผู้เข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ (ปทพ.) รุ่นที่ 9 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ซึ่งแพทยสภาร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดการศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 9 เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้การแพทย์ไทยทั้งจากสังกัดต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ กรุงเทพมหานคร การแพทย์ทหารและตำรวจ และการแพทย์เอกชน เพื่อบูรณาการร่วมกันในการแก้ปัญหานำไปสู่การพัฒนาของวงการแพทย์และสาธารณสุขของไทย โดยในโอกาสนี้ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้บรรยายพิเศษ เรื่องนโยบายสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร และนางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร บรรยาย เรื่องระบบการแพทย์และสาธารณสุขภายใต้สังกัด กรุงเทพมหานคร ตลอดจนหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย รวมถึงปัญหาและระบบสุขภาพคนเมือง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในอนาคตนโยบายสาธารณสุขต้องละเอียดขึ้น ต้องตอบโจทย์ เพราะเรามีคนที่แตกต่าง เรามี Niche Market (ตลาดเฉพาะกลุ่ม) จะใช้นโยบายแบบ Universal policy (นโยบายสากล) ไม่กี่ข้อครอบคลุมคนทั้งประเทศไม่ได้ คนหมายเลขศูนย์ คนที่ไม่มีบัตรประชาชน คนไร้บ้าน ก็เป็นกลุ่มที่ต้อง Address ผมว่าในอนาคตนโยบายสาธารณสุขต้องละเอียดขึ้น ต้องตอบโจทย์ Niche Market มากขึ้น สมัยก่อนเป็นอนาล็อกพิมพ์นโยบายลงกระดาษ อาจมี 4-5 นโยบาย ตอบโจทย์คนกลุ่มหนึ่งที่มีความต้องการของนโยบายเยอะ แต่พอมี Digital platform สามารถมีนโยบายได้เยอะ ไม่อั้น บางนโยบายอาจจะไม่มีคนต้องการเยอะ แต่ว่ามีความหลากหลาย เช่น นโยบายแจกผ้าอนามัย นโยบายกลุ่มหลากหลายทางเพศ ในอนาคตเราจะเห็นนโยบายที่ละเอียดขึ้น ที่ตอบโจทย์ของ Niche Market มากขึ้น เพราะ Digital platform ไม่มีปัญหาเรื่องความจุของนโยบาย แต่ก่อนนโยบายต้องพิมพ์ใส่หนังสือ ปัจจุบันเอาเป็นแสนนโยบายก็ได้ เพราะ Digital platform มันใหญ่

เชื่อว่ากรุงเทพฯ คล้ายกับหลอดเลือด ร่างกายคนมีทั้งหลอดเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย ที่ผ่านมาเรา Impress (ประทับใจ) กับโรงพพยาบาลขนาดใหญ่เยอะมาก พื้นที่กรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลระดับโลก เช่น รพ.ศิริราช รพ.จุฬาฯ แต่เส้นเลือดฝอยเราบอบบางมาก และชีวิตคนอยู่ที่เส้นเลือดฝอยด้วย หัวใจคือการ Balance (สมดุล) กันระหว่างเส้นเลือดใหญ่กับเส้นเลือดฝอยในทุกระบบ ไม่ใช่เฉพาะสาธารณสุข ระบบในกรุงเทพฯ คล้ายกับโซ่ มันไม่ได้แข็งแรงเท่ากับข้อที่อ่อนที่สุด เรามีโรงพยาบาลขนาดใหญ่เยอะแยะ มีศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ถ้าเส้นเลือดฝอย หรือปฐมภูมิอ่อนแอ จะไม่มีทางที่จะอยู่รอดเลย เพราะทุกคนจะวิ่งมาที่ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ หมด เพราะฉะนั้นด่านแรกที่ปะทะต้องเข้มแข็ง หน้าที่หลักของ กทม. คือต้องดูปฐมภูมิ กทม. มีเตียงในระบบอื่นแค่ 10% กทม. อย่าไปคิดว่าจะสร้างเตียงอีกเพราะยังไงก็ไม่พอ ยังไงเตียงก็ไม่พอ ถ้าปฐมภูมิไม่เข้มแข็งประชาชนไม่ไว้ใจ สาธารณสุขต้องเน้นเรื่องปฐมภูมิ


“หน้าที่ กทม. มี 3 อย่าง คือ เพิ่ม Productivity (การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง) เพิ่มคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสให้คน กทม. มีหน้าที่อำนวยความสะดวก ไม่ได้สร้างภาระ สร้างประสิทธิภาพของเมือง เมืองแข่งกันที่การดึงคนเก่ง เพราะเมืองคือเศรษฐกิจ เมืองอยู่ได้เพราะงาน คนที่จะสร้างงานคือคนเก่ง อนาคตเมืองต้องดึงดูดคนเก่ง เมืองต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะคนเก่งเลือกที่จะอยู่ในที่ต่าง ๆ ได้ และเมืองต้องสร้างโอกาส เมืองเป็นศูนย์รวมที่ปฏิเสธความเหลื่อมล้ำไม่ได้ เมืองมีหน้าที่เกลี่ยความมั่งคั่งอย่างเหมาะสม สาธารณสุขก็เป็นรูปแบบหนึ่ง คนมีเงินในกรุงเทพฯ ไม่ได้สนใจระบบสาธารณสุขใน กทม. เพราะไม่เคยมาใช้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข ไม่ต้องการ อสม. ไม่ต้องการ อสส. เพราะมีโรงพยาบาลเอกชน แต่จะเกลี่ยความมั่งคั่งอย่างไรให้คนที่เป็นเครื่องจักร เป็นคนสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองอยู่ได้ มีสวัสดิการให้คนมีรายได้น้อย เป็นหัวใจของระบบสาธารณสุขให้อยู่ได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว พบผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรเพิ่ม 1 ราย แนะผู้สัมผัสเสี่ยงเฝ้าระวังและสังเกตอาการ 21 วัน

ภายหลังการต้อนรับคณะศึกษาดูงาน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีไฟไหม้ที่สัตหีบ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิด กังวลเรื่องนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้วที่มีเหตุการณ์ไฟไหม้ที่สีลมซอย 2 ได้สั่งกำชับให้ทุกเขตลงไปตรวจเรื่องทางหนีไฟ เรื่องความเสี่ยงอัคคีภัยของทุกสถานบริการ จริง ๆ แล้วได้ไล่ตรวจมาเป็นเดือนแล้ว แต่คงต้องไปเร่งรัดกำชับให้มากขึ้น เมื่อเช้าได้แจ้ง พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ไปกำชับเรื่องนี้ให้เข้มข้นขึ้น ต้องลงตรวจให้มากขึ้น เป็นจังหวะที่เริ่มเปิดเมือง นักท่องเที่ยวกลับมา กิจกรรมพวกนี้จะมีคนเข้ามาเที่ยวมากขึ้น อย่างน้อยก็ได้สั่งการไปเดือนกว่าแล้ว ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้รับบาดเจ็บทุกคน ทางกรุงเทพมหานครเอากรณีนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ต้องเร่งดำเนินการ วันนี้จะติดตามความคืบหน้าว่า ที่ลงไปตรวจแล้วมีปัญหาอะไร แล้วก็มีข้อขัดข้องอย่างไรหรือไม่ ส่วนกรณีฝีดาษลิงก็ขอบคุณโรงพยาบาลจุฬารัตน์ที่อยู่ในเขตสมุทรปราการ ที่สามารถระบุผู้ที่ป่วยได้ ต้องระวัง เป็นโรคที่แพร่เชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ ถ้ามีเพศสัมพันธ์ต้องมีการป้องกัน ต้องใส่ถุงยางอนามัย แต่มันก็อาจจะแพร่เชื้อได้ ต้องระวัง เพราะเริ่มมีเคสเกิดขึ้น ต้องระมัดระวังตัว ทุกหน่วยก็คงต้องเดินหน้าเต็มที่

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวเสริมกรณีพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรเพิ่มเติมว่า พบผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา แล้วก็พบข้อสงสัยในอาการ ทางโรงพยาบาลได้เก็บตัวแล้วคัดกรองเลย ผลเพิ่งออกมาสักครู่ใหญ่ ๆ ว่า เป็นผู้ป่วยรายที่ 2 ของกรุงเทพมหานคร แต่ก็อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ขอขอบคุณโรงพยาบาลจุฬารัตน์ แม้ว่าจะอยู่ในสมุทรปราการ ก็ Detect ได้ รวมถึงส่งข่าว สื่อสารร่วมมือกับทางศูนย์บริการสาธารณสุข และทางกรุงเทพมหานครรวดเร็วมาก ก็เลยทำให้เรารอบคอบขึ้น สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใกล้ชิด ตอนนี้อยู่ในความดูแล มีการคัดกรอง แล้วก็ให้ดูแลตัวเองอยู่ในพื้นที่ เบื้องต้นทราบว่ามีผู้ป่วยสัมผัสเสี่ยงสูง 2 ราย เป็นเพื่อนคนไทยที่อาศัยอยู่ด้วยกันในบ้าน ส่วนที่ไปสัมผัสใกล้ชิดกับชาวต่างชาติยังหาตัวไม่เจอ

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวเสริมว่า การสัมผัสโรคมีโอกาสที่ติดเชื้อได้หลังจากสัมผัสโรคภายใน 21 วัน ต้องแจ้งเตือนประชาชนให้ลองย้อนเวลากลับไปว่า 21 วันที่ผ่านมาได้มีประวัติไปสัมผัสโรคนี้มาหรือไม่ หากมีการสัมผัสโรคมาหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อให้สังเกต เฝ้าระวัง และดูอาการตนเองให้ครบ 21 วัน

----------------------------- (พัทธนันท์...สปส./ชลสิทธิ์ นศ.ฝึกงาน รายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น