ปัจจุบันพื้นที่ในเขตคลองเตยมีพื้นที่ว่างเปล่าหลายแห่ง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่ตามนโยบายสวน 15 นาที หรือ pocket park ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงมีการประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงานเขตคลองเตยและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ทำให้เกิดความหลากหลายในระบบนิเวศน์ สำหรับแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ไม่ใช่เพียงแค่การปลูกต้นไม้เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการดูแลรักษาต้นไม้ การตัดแต่งกิ่งไม้ การดูแลดินใส่ปุ๋ยต้นไม้ ตลอดจนการดูแลรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความสวยงามของพื้นที่ ให้มีความร่มรื่นเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนเข้ามาใช้บริการ
จุดที่ 1 สวนไทร ซอยสุขุมวิท 50 ขนาดพื้นที่ 7 ไร่ เป็นพื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย สำนักงานเขตคลองเตยได้รับการประสานจาก คุณตัน ภาสกรนที เจ้าของแบรนด์อิชิตัน มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเพื่อปรับปรุงเป็นสวน 15 นาที สวนสาธารณะแห่งใหม่ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ จุดที่ 2 สวนหย่อม บริเวณซอยสุขุมวิท 48/1 ขนาดพื้นที่ 4 ไร่ 3 งาน เป็นพื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ตกลงเข้าร่วมกิจกรรม ผู้ว่าฯ ท้าสื่อ ปลูกต้นไม้ล้านต้น โดยกำหนดปลูกต้นไม้ จำนวน 1,000 ต้น จัดกิจกรรมประมาณเดือนกันยายน 2565
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักงานเขตคลองเตยได้หารือร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อปรับปรุงพื้นที่สวนไทร ซอยสุขุมวิท 50 ขนาดพื้นที่ 7 ไร่ โดยได้รับการประสานจาก คุณตัน ภาสกรนที ซึ่งมีแนวคิดจะออกแบบสวนและจะดำเนินการปรับปรุงให้ โดยกรุงเทพมหานครไม่ต้องใช้งบประมาณของแต่อย่างใด จากการลงพื้นที่ในวันนี้บริเวณดังกล่าวเคยเป็นสวนมาก่อน ซึ่งการทางพิเศษฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงไว้ แต่ในระยะเวลานานเข้า ไม่มีผู้ดูแลรักษา ประชาชนจึงเข้ามาใช้บริการน้อยลง แต่จากการพูดคุยระหว่างสำนักงานเขตคลองเตยกับการทางพิเศษฯ ได้มีความเห็นสมควรที่จะดำเนินการปรับปรุง โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการปรับปรุงให้ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้สำนักงานเขตคลองเตยยังมีแนวคิดทำเป็น Dog Park ด้วย คาดว่าภายในสัปดาห์จะมีการพูดคุยถึงเรื่องรูปแบบสวน หลังจากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างต่อไป
“การก่อสร้างสวน 15 นาทีนั้น สำนักงานเขตจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาพื้นที่ในการจัดทำสวน ซึ่งจะใช้พื้นที่ไม่มากประมาณ 50 -200 ตารางวา เพื่อให้ประชาชนมาใช้โดยสะดวก ระยะห่างจากพื้นที่ไม่ห่างไกลกันมากนัก ประชาชนสามารถเดินถึงสวนได้ภายใน 15 นาที ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจมีรูปแบบความเหมาะสมไม่เหมือนกัน พื้นที่ที่ได้มาแต่ละแห่งเป็นพื้นที่ไม่มาก จึงมีโอกาสหาพื้นที่ในการจัดทำสวนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการหาพื้นที่จัดทำสวนในเมืองนั้นจะหาพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ยาก จะเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก แต่ข้อดีก็คือ ทำให้สวนกระจายออกไปได้มากขึ้น ประชาชนได้มีพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจ” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าว
*คัดแยกขยะอินทรีย์ขยะเปลือกผลไม้ทำปุ๋ยหมักใส่ต้นไม้
จากนั้นเวลา 15.00 น. รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมการคัดแยกขยะในพื้นที่เขตคลองเตย จำนวน 3 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 จุดคัดแยกขยะ บริเวณตลาดคลองเตย ซอย 8 โดยเจ้าหน้าที่งานเก็บขนมูลฝอย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ดำเนินการคัดแยกขยะอินทรีย์ ขยะเศษผัก จากตลาดคลองเตย ดังนี้ 1.คัดแยกโดยใส่รถอัดขยะ ขนาด 5 ตัน ปฏิบัติงานระหว่างเวลา 07.00 น. - 08.00 น. ปริมาณขยะที่คัดแยกวันละ 5 ตัน 2.คัดแยกโดยใส่ตู้อัดขยะคอมแพคเตอร์ ปฏิบัติงานระหว่างเวลา 24.00 น. – 04.00 น. ปริมาณขยะที่คัดแยกวันละ 8 ตัน จากนั้นได้นำขยะเศษผักไปเทที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช กลุ่มงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ วันละ 5 เที่ยว ได้ปริมาณขยะเศษผักที่คัดแยกวันละประมาณ 8-9 ตันต่อวัน จุดที่ 2 คอกปุ๋ยหมัก ถนนท่าเรือ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ดำเนินการคัดแยกขยะอินทรีย์ กิ่งไม้ เปลือกผลไม้ นำมาทำปุ๋ยหมัก ทำปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นขยะเปลือกผักผลไม้จากร้านค้าในพื้นที่เขตคลองเตย เพื่อให้กลุ่มงานสวนนำไปใช้ปลูกและบำรุงต้นไม้ และ จุดที่ 3 สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า (สวน 15 นาที) ขนาดพื้นที่ 13 ไร่ เป็นพื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดทำเป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา หน่วยงาน ชุมชนต่าง ๆ ในด้านการจัดการขยะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเกษตรอินทรีย์ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งภายในศูนย์การเรียนรู้ ได้มีการจัดทำเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ ประกอบด้วย ฐานน้ำหมักชีวภาพ ฐานปุ๋ยหมักอินทรีย์ ฐานปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน ฐานการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ และฐานนิทรรศการการจัดการขยะมูลฝอยตามหลัก 3R ได้แก่ การคัดแยกขยะ รีไซเคิล กล่องเครื่องดื่ม ขวดพลาสติก และกระป๋องอลูมิเนียม เป็นต้น
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
----- (จิรัฐคม...สปส.รายงาน)
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
----- (จิรัฐคม...สปส.รายงาน)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น