"ชัชชาติ" เตรียมเปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ประชาชนตรวจสอบความโปร่งใส ยันพร้อมจ่ายหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องทำให้รอบคอบ..00 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565

"ชัชชาติ" เตรียมเปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ประชาชนตรวจสอบความโปร่งใส ยันพร้อมจ่ายหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต้องทำให้รอบคอบ..00


 64 01-08-2565



เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า เรื่องภาระหนี้สินของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนของกทม. ถ้าเรามีหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายและโปร่งใสในทุกเรื่อง เราพร้อมจ่ายอยู่แล้วไม่มีปัญหา แต่ต้องทำให้รอบคอบ ปัจจุบัน กทม. เป็นคู่สัญญากับกรุงเทพธนาคม และกรุงเทพธนาคมไปจ้างบริษัทเอกชนเดินรถ ซึ่งมีอยู่ 3 ส่วน 1. ส่วนไข่แดง เริ่มจาก กทม.ให้สัมปทานบริษัทเอกชน ซึ่งนำไปขายต่อให้กองทุนถึง ปี 2572 ส่วน ปี 2572 -2585 มีการว่าจ้างกรุงเทพธนาคมให้บริหารต่อ แล้วกรุงเทพธนาคมจ้างบริษัทบีทีเอสเดินรถต่อ 2.ส่วนต่อขยายที่ 1 อ่อนุช-แบริ่ง ตากสิน – บางหว้า ซึ่ง กทม.ว่าจ้างกรุงเทพธนาคม และกรุงเทพธนาคมไปว่าจ้างบีทีเอสต่อ 3.ส่วนต่อขยายที่ 2 ที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จไป คือ แบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ และหมอชิต – สะพานใหม่คูคต สัญญาคือ กทม.มอบหมายให้กรุงเทพธนาคมบริหารจัดการ รวมทั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลด้วย ซึ่งกรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการต่อ

ภาระหนี้ต่าง ๆ จึงเป็นหนี้ระหว่างกทม.กับกรุงเทพธนาคม และกรุงเทพธนาคมมีภาระหนี้กับเอกชน โดยกทม.ได้ว่าจ้างและมอบหมายให้บริษัทดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใน 2 สัญญาคือ สัญญาที่กทม. ได้ว่าจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้บริหารระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระยะเวลา 30 ปี ลงนามเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 หรือสัญญาโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายที่ 1 ประกอบด้วย 1. ส่วนต่อขยายสายสีลม 2.2 กิโลเมตร (สถานีสะพาน ตากสิน-วงเวียนใหญ่) 2. ต่อขยายสายสุขุมวิท 5.25 กิโลเมตร (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง) 3. ส่วนต่อขยายสายสีลม 5.3 กิโลเมตร (สถานีวงเวียนใหญ่-บางหว้า) และ 4. การเดินรถหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2572 ไปถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2585

โดยส่วนต่อขยายที่ 1 ในวันที่ 13 มีนาคม 2555 มีการบรรจุโครงการนี้ในข้อบัญญัติ กทม. คือผ่านสภากทม.เรียบร้อย มีรายละเอียดโครงการชัดเจนว่าจะสร้างเมื่อไหร่ ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ หลังจากนั้น 2 พฤษภาคม 2555 ได้ลงนามสัญญาจ้างกับกรุงเทพธนาคม และวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 กรุงเทพธนาคมก็ได้ทำสัญญากับเอกชนเลย ซึ่งวันนี้จะลงเว็บไซต์กทม. โดยกรุงเทพธนาคมได้มีหนังสืออนุญาตให้ กทม. เปิดสัญญาแล้ว แต่ระหว่างกรุงเทพธนาคมกับเอกชน ยังเปิดเผยสัญญาไม่ได้ เพราะยังติดในเรื่อง พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

ในส่วนของ ส่วนต่อขยายที่ 2 ปรากฏว่า มีการลงนามซื้อขายระบบไฟฟ้าเครื่องกลก่อน ในวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ระหว่างกรุงเทพธนาคมกับบีทีเอส มูลค่าประมาณ 19,000 ล้าน โดยอ้างว่า สำนักการจราจรและขนส่งได้มอบหมายให้กรุงเทพธนาคมไปดำเนินการ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้กรุงเทพธนาคมดำเนินการในเรื่องนี้ และกระบวนการนี้ยังไม่มีการผ่านสภากทม. ต่อมา 28 กรกฎาคม 2559 มีการลงนามบันทึกข้อตกลง ที่กทม.ได้มอบหมายหน้าที่ในการดำเนินกิจการขนส่งมวลชน ให้แก่บริษัท ตามบันทึกข้อตกลงการมอบหมายกิจการในอำนาจหน้าที่ของกทม. โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียวช่วงหมอชิต - สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 หรือบันทึกข้อตกลงมอบหมายงานโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสในส่วนต่อขยายที่ 2 เพื่อให้การดำเนินกิจการขนส่งมวลชนอันเป็นบริการสาธารณะแก่ประชาชนและด้วยหลักธรรมาภิบาลของบริษัท ที่ยึดถือความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ สัญญาส่วนต่อขยายช่วงที่ 1 เป็นสัญญาจ้างบริหารโครงการ แต่สัญญาส่วนที่ 2 เป็นบันทึกมอบหมายให้เดินรถ ซึ่งในบันทึกมอบหมายไม่มีรายละเอียดเรื่องค่าจ้าง เป็นเหมือนตัวเลขคร่าว ๆ จากนั้น วันที่ 1 สิงหาคม 2559 กรุงเทพธนาคมก็ไปลงนามกับบริษัทเอกชนจ้างเดินรถ

“ข้อแตกต่างระหว่าง 2 ส่วนนี้ คือ 1. ส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่มีการบรรจุอยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกทม. ดังนั้น สภากทม. จะไม่ทราบเรื่อง ซึ่งถ้าเราเอาเงินไปจ่ายค่าเดินรถ จะต้องอยู่ในงบประมาณของกทม. ทำให้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา เราจึงต้องระมัดระวังว่าเราจะจ่ายหนี้ให้กรุงเทพธนาคมได้อย่างไร เพราะโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่ได้ผ่านสภากทม. 2. ส่วนต่อขยายที่ 1 มีสัญญาชัดเจนว่า จ้างเท่าไหร่ มีกรอบวงเงินเท่าไหร่ แต่ส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นบันทึกข้อตกลงเท่านั้น ไม่ได้มีระบุวงเงินงบประมาณ มีเพียงประมาณการรายรับรายจ่ายคร่าว ๆ อยู่ในสัญญาระหว่าง กทม. กับกรุงเทพธนาคม นอกจากนี้ ในสัญญาที่ 2 ยังระบุด้วยว่า กรุงเทพธนาคมไม่ใช่ตัวแทนของ กทม. ซึ่งตามกฎหมายคำพูดนี้ก็มีความหมายเหมือนกัน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ปัจจุบัน กรุงเทพธนาคมจะเก็บหนี้กับ กทม. คือ ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 3,800 ล้าน (ปี 62-65) ส่วนต่อขยายที่ 2 (ปี 60-65) ประมาณ 1,700 ล้าน และ เม.ย. 60 – 65 ช่วงแบริ่ง 7,565 ล้าน รวม 17,509 ล้าน และงานซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบเดินรถ 17,849 ล้าน รวมทั้งหมด 35,459 ล้าน แต่ในช่วงที่ 1 ที่กทม. ยังไม่ได้จ่าย เพราะเป็นกระบวนการตาม ม. 44 ให้เจรจาขยายสัมปทานไปถึงปี 2562 ในที่ประชุมกรรมการตกลงกันแล้วว่าเป็นกระบวนการที่อยู่ในการเจราจาเรื่องสัมปทานที่อยู่ใน ครม.และยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งส่วนต่อขยายก็อยู่ในระหว่างการเจราจาด้วย ทุกอย่างต้องรอบคอบ ต้องดูอำนาจจ่ายเงินมีหรือไม่ ที่สำคัญคือ สภากทม. ซึ่งเป็นผู้อนุมัติการใช้จ่าย เราไม่สามารถเอาเงินไปใช้จ่ายได้โดยไม่ผ่านงบประมาณ นี่คือสิ่งที่เราต้องละเอียด แต่เราไม่ได้ดึงเวลาแต่เราเห็นว่ารายละเอียดมันเยอะตัวเลขมันเยอะ ดังนั้น กระบวนการตามกฎหมายก็ต้องให้รอบคอบ สิ่งที่ต้องคิดอีกอย่างคือค่าแรกเข้าระบบหรือค่าบริหารสถานี ซึ่งส่วนต่อขยายที่ 2 ที่เราจะเริ่มเก็บเงิน ต้องมี รปภ. ระบบอ่านตั๋วก่อนเข้า แม้จะเข้าสถานีเดียวก็ต้องเสีย 15-16 บาท ตอนนี้กำลังให้กรุงเทพธนาคมไปเจราจา ซึ่งในสัญญาไม่มีสัญญาแรกเข้า แต่ระบุว่า สถานีเก็บครั้งแรกได้ไม่เกิน 15 บาท นี่เป็นรายละเอียดที่ไม่สามารถจบภายใน 1 เดือนได้

ทั้งนี้ ครม. ได้มีหนังสือสอบถามความคิดเห็นมายัง กทม. แล้วว่าเรามีความคิดเห็นอย่างไร ก็คงต้องประชุมร่วมกับสภา กทม. และอีกเรื่องที่เรายืนยันคือ เราต้องการขอสนับสนุนจากรัฐบาลในเรื่องของการลงทุนด้านงานโยธา ในส่วนที่มหาดไทยแจ้งมาเราต้องเอาเรื่องเข้าสภากทม. อาจจะตั้งคณะกรรมการร่วมกันในเรื่องของงบลงทุน ซึ่งมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ระบุว่า เห็นชอบในหลักการให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้ กทม. ในอัตราส่วนที่เหมาะสม

สำหรับในส่วนต่อขยายที่ 2 ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบบันทึกข้อตกลงมอบหมาย ว่าทำไมไม่ทำสัญญาเหมือนส่วนต่อขยายที่ 1 ไม่มีงวดจ่ายเงินที่ชัดเจน อาจจะมีเรื่องค่าแรกเข้าที่ต้องคุยเพิ่มเติม ประชาชนไม่สามารถจ่ายค่าแรกเข้า 2 ครั้งได้ เพราะจะทำให้ค่าโดยสารแพงมาก สำนักการจราจรและขนส่งต้องไปเจราจากับกรุงเทพธนาคม เพื่อไปดูว่าจะคุยต่อหรือคำนวณอย่างไร มันมีความซับซ้อน ทั้งในเรื่องของกฎหมาย จำนวนเงิน ตัวเลขต่าง ๆ และเงินเป็นเงินภาษีของประชาชน ก็ต้องทำให้รอบคอบ

โดยวันนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และผศ.ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ลงนามให้ความเห็นชอบในการเปิดเผยข้อมูลไว้ในสัญญาและบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการบริหารจัดการโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนชาวกรุงเทพฯ โดยระบุในหนังสือว่า “บริษัทเห็นว่าสัญญาฉบับดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างบริหารระบบขนส่งมวลชน อันเป็นการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน และด้วยหลักธรรมาภิบาลของบริษัทที่ยึดถือความโปร่งใส ตรวจสอบได้ บริษัทจึงเห็นว่า กรณีมีเหตุอันสมควรเปิดเผยข้อมูลในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ต่อสาธารณะได้ ด้วยหนังสือฉบับนี้ บริษัทในฐานะคู่สัญญาขอแสดงความเห็นชอบในการเปิดเผยข้อมูลในบันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าวมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป”  (ขอบคุณข่าวและภาพจากเพจprbangkok)

บริหารจัดการดีเดินทางดีโครงสร้างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น