"หมอหนู" นำผู้บริหารสาธารณสุข สปสช. แชร์ความสำเร็จโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยในเวทีโลก หนุนใช้กลไก WHO ขับเคลื่อนและเข้าถึงการรักษาในทุกประเทศ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

"หมอหนู" นำผู้บริหารสาธารณสุข สปสช. แชร์ความสำเร็จโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยในเวทีโลก หนุนใช้กลไก WHO ขับเคลื่อนและเข้าถึงการรักษาในทุกประเทศ


รองนายกฯ อนุทิน นำผู้บริหารสาธารณสุข สปสช. แชร์ความสำเร็จโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยในเวทีระดับโลก หนุนใช้กลไก WHO ขับเคลื่อนให้เกิดกับทุกประเทศเพื่อการเข้าถึงการรักษาที่ทั่วถึง

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี นำคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมการประชุม พร้อมกับทำหน้าที่ประธานในการประชุมฯ คณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS Programme Coordinating Board: PCB) ครั้งที่ 50 เป็นวันสุดท้าย ณ สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างนี้ได้มีการประชุม เรื่องการพัฒนาระบบสาธารณสุขนานาชาติ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และผู้บริหารการะทรวงสาธารณสุข ได้แบ่งปันประสบการณ์และความสำเร็จของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ที่เริ่มต้นขับเคลื่อนตั้งแต่สาธารณสุขขั้นมูลฐาน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านำไปสู่การเข้าถึงการรักษาที่เท่าเทียม มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณภาครัฐที่เพียงพอเพื่อเป็นสวัสดิการที่ครอบคลุมบริการที่หลากหลาย เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องล้มละลายเพราะค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพ และเพื่อปรับปรุงบริการให้ดียิ่งขึ้น ประเทศไทยดำเนินการใน 3 เรื่องอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ 1) สำรวจความต้องการด้านการรักษาพยายาลระดับครัวเรือน 2) ปรับปรุงระบบข้อมูลเพื่อพัฒนาบริการ และ 3) มุ่งหาจุดบกพร่อง เพื่อแก้ไขปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพให้ดีที่สุด

ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้พัฒนาโครงการและแนวทางการวัดประสิทธิภาพของหลักประกันสุขภาพ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่สนับสนุนระบบในประเทศไทยให้ดีขึ้นโดยต่อเนื่อง ซึ่งไทยได้ดำเนินโครงการมาครบ 20 ปีแล้ว พร้อมจะแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีกับทุกประเทศ และสนับสนุนให้กำหนดเป็นเป้าหมายให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นทั่วโลก โดยขับเคลื่อนภายใต้กลไกของ WHO ซึ่งประเทศไทยจะสนับสนุนการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ เพื่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ทั่วถึงของผู้คนทั่วโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น