สำหรับการหารือร่วมกันในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกับกรุงเทพมหานคร ในการปฏิบัติงานเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและแก้ไขความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมให้กับประชาชน เผยแพร่และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินและกรุงเทพมหานคร ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน และประสานความร่วมมือและร่วมเป็นเครือข่ายในการเสริมสร้างธรรมมาภิบาลในสังคม โดยทั้ง 2 หน่วยงานมีเจตจำนงที่จะร่วมมือกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือด้านต่าง ๆ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังจากการประชุมว่า ความร่วมมือกันระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินกับ กทม. เป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน ในเบื้องต้นมีการพิจารณาร่าง MOU ซึ่งจะมีการลงนามในวันที่ 10 ส.ค. 65 ประกอบด้วย 5 เรื่อง คือ
เรื่องที่ 1. การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน โดยร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับ กทม. หลายเรื่อง โดยจะมีประสานการทำงานให้เป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เร็วขึ้น
เรื่องที่ 2. การประชาสัมพันธ์ โดยร่วมมือกันในการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อเผยแพร่ บทบาท อำนาจหน้าที่ ภารกิจ และความสำคัญของทั้ง 2 หน่วยงานในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงขอบเขตอำนาจ และใช้ช่องทางต่าง ๆ ในการแจ้งเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เรื่องที่ 3. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับชุมชน ในการสร้างเครือข่ายระดับชุมชน โดยเฉพาะการส่งเสริมกิจกรรมที่ประชาชนทำความดีในรูปแบบต่าง ๆ
เรื่องที่ 4. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับเยาวชน ซึ่งทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้เริ่มกิจกรรมเยาวชนคนดีเพื่อสังคม เพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งจะร่วมมือกับ กทม. ที่มีนักเรียนในสังกัดประมาณ 270,000 คน และขยายผลเพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลในระดับเยาวชนให้เข้มแข็งขึ้น โดยใช้องค์ความรู้ของทั้ง 2 หน่วยงานร่วมมือกัน เรื่องที่ 5. เป็นเรื่องเร่งด่วน คือการแก้ไขปัญหาส่งเสริมวินัย และทางจราจร และทางม้าลาย ซึ่งทางผู้ตรวจการแผ่นดินมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัยของทางม้าลาย โดยจะเริ่มรณรงค์กิจกรรมนี้ร่วมกัน ทาง กทม. เสนอว่า เราอยากจะรณรงค์เรื่องนี้เช่นกัน เป็น 1 ใน 4 เรื่อง คือ เรื่องความปลอดภัยทางม้าลาย เรื่องทุจริตความโปร่งใส เรื่องการจัดการขยะ และเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงกับเรื่องที่เราจะทำ แต่เราเลือกเรื่องความปลอดภัยทางม้าลายมาเริ่มต้นก่อน ซึ่งท่านผู้ตรวจการกล่าวว่า ทั้ง 4 เรื่องเป็นเรื่องที่ประชาชนได้มีข้อร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวนมาก วันนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่จะมีการร่วมมือกันอย่างบูรณาการระหว่าง 2 หน่วยงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน
ด้านนายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การมาพบกันวันนี้ เป็นการบูรณาการอย่างเป็นทางการ ความจริงการทำงานได้เริ่มมาระยะหนึ่งแล้ว ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการเชิงรุก โดยลงพื้นที่เขตสวนหลวงในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาลงไปแล้ว 3 เขต (เขตสวนหลวง เขตประเวศ และเขตทวีวัฒนา) สอดคล้องกับที่ท่านผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงพื้นที่เขตทุกวันอาทิตย์ โดยเราลงพื้นที่ทุกวันเสาร์ เพื่อจะช่วยกันสนับสนุนในการทำงาน ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขเรื่องร้องเรียนได้เป็นจำนวนมาก ทั้งเรื่องเล็ก ๆ และเรื่องใหญ่ ๆ บางเรื่องที่จะมีทางออกที่สำคัญ ซึ่งเรื่องใหญ่ในขณะนี้ คือการสร้างวินัยจราจรโดยเฉพาะการใช้ทางม้าลายเป็นเรื่องหลัก โดย กทม. จะเป็นเจ้าภาพหลักในเขตกรุงเทพฯ ในการที่จะระดมกำลังจากทุกภาคส่วน ทั้งการดำเนินการในด้านมิติกฎหมาย ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น มิติเรื่องกายภาพ ทำให้เรื่องทางข้าม ทางม้าลาย สัญญาณไฟ CCTV มีความพร้อมมากขึ้น
และมิติที่สำคัญคือ การรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาจราจรทั้งในกรุงเทพฯ และจะทำพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งกทม. เป็นหน่วยงานหลักที่สำคัญ โดยเฉพาะท่านผู้ว่าฯ กทม. มีส่วนสำคัญที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดกระแส ให้ประชาชนได้มีความร่วมมือ ในเรื่องอื่น ๆ ที่ได้คุยกัน คือการประสานเรื่องร้องเรียน ทำให้ที่ผ่านมา 4-5 เดือน การประสานเรื่องร้องเรียนรวดเร็วขึ้นมาก แก้ปัญหาให้ประชาชนได้เร็วขึ้น และมีการร่วมมือกัน รวมทั้งคุยกันเรื่องวิสาหกิจชุมชนในเขต กทม. ซึ่งมีอยู่ประมาณ 201 แห่ง ท่านผู้ว่าฯ กทม. ให้ความสนใจเป็นอย่างมากและยินดีที่จะช่วยสนับสนุนเพราะเป็นฐานราก เป็นรากหญ้าของเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งเราจะทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องต่อไป
“ผมว่าสิ่งสำคัญ นั่นคือการร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจะทำให้มีพลังขึ้นมหาศาล กทม.เองไม่มีทรัพยากรที่จะดูแลคนทั้งหมดได้ การแสวงหาความร่วมมือจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ต้องขอบพระคุณท่านผู้ตรวจการแผ่นดินที่กรุณาให้เวลา และให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชน กทม.” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น