เปิดพื้นที่สวนกลางกรุงสำหรับผู้รักการอ่าน พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมรักการอ่านและสร้างนักอ่านหน้าใหม่...00 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

เปิดพื้นที่สวนกลางกรุงสำหรับผู้รักการอ่าน พร้อมจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมรักการอ่านและสร้างนักอ่านหน้าใหม่...00

“ห้องสมุดที่สวยที่สุดไม่ใช่ห้องสมุดที่อยู่กลางเมืองแต่เป็นห้องสมุดที่อยู่ใกล้บ้าน เด็กสามารถใช้เวลาตอนเย็นมาดูหนังสือ มีคนช่วยสอนอ่าน เสาร์-อาทิตย์ไม่ต้องเดินทางเข้ามาในเมือง ห้องสมุดต้องกระจายไปทั่ว อยากอ่านหนังสืออะไรต้องมีให้อ่าน อนาคตอาจเป็นออนไลน์หมดได้ไหม เป็นการยืมหนังสือออนไลน์ อยู่บ้านล็อกอิน โหลด E-Book (อีบุ๊ก) มาอ่าน 7 วันหมดอายุ คนอื่นใช้ต่อได้ ห้องสมุดต้องไม่ใช่ไว้เก็บสมุด ต้องตอบโจทย์คน มีชีวิตเปลี่ยนไปตามสภาพ” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวขณะร่วมกิจกรรม “หนังสือในสวน” ซึ่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับกลุ่มคนรักหนังสือจากเพจ Just Read จัดขึ้นในวันนี้ (29 ก.ค. 65) ที่สวนลุมพินี ระหว่างเวลา 16.00 - 19.00 น. เพื่อเปิดพื้นที่สวนสาธารณะให้นักอ่านทั้งหลายได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่คนรักหนังสือ เสริมสร้างสังคมนักอ่าน และส่งเสริมการรักการอ่านให้ขยายไปในวงที่กว้างขึ้น โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม


ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตอนเด็ก ๆ ก็อ่านหนังสือพล นิกร กิมหงวน ต่วยตูน สตรีสาร สกุลไทย ดิฉัน แพรว อ่านหมด พอรักการอ่านก็ง่ายขึ้น ตอนหลังอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับชีวิต อ่านแล้วตอบโจทย์ชีวิตมากขึ้น แต่ละคนมีหนังสือที่ชอบไม่เหมือนกัน อ่านที่ตัวเองรู้สึกว่าสนุกและมีประโยชน์กับชีวิต บางคนอ่านนิยาย กำลังภายใน ธุรกิจ หลาย ๆ เรื่องในชีวิตมาจากการอ่านหนังสือ เป็นการเพิ่มความรู้ มุมมองต่าง ๆ ในสิ่งที่หลากหลายขึ้น เป็นการพัฒนาตัวเองที่รวดเร็ว เป็นทางลัด คนอ่านหนังสือเยอะ ๆ ความคิดจะหลากหลายขึ้น สร้างสิ่งดี ๆ ให้เมืองได้มากขึ้น กทม. มีห้องสมุด 34 แห่ง บ้านหนังสือ 142 แห่ง แต่ไม่พอหรอก ต้องขยายให้มีคุณภาพมากขึ้น มีหนังสือหลากหลายมากขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ด้านรองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า กทม. มีห้องสมุด 34 แห่ง ซึ่งมีห้องสมุดดี ๆ เยอะมาก ห้องสมุดที่สวนลุมพินีสวยมาก อยากให้มีที่แบบนี้ให้คนมาใช้กันมากขึ้น ตอนนี้มีการนำร่องปรับบ้านหนังสือ 15 ที่ให้ดีขึ้น มี Wi-Fi มี E-Book (อีบุ๊ก) เป็นต้น อยากให้เมืองมีชีวิต ก็ต้องจัดกิจกรรมให้คนออกมาใช้ชีวิต หนังสือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีฐานแฟนคลับเยอะ วันนี้มีคนมาก่อนเวลา ถือว่าประสบความสำเร็จ ทดลองก่อน ถ้าสำเร็จก็ต่อยอด วิธีการทำงานเปลี่ยนไป บางทีไอเดียมาก่อนก็เริ่มได้เลย ทุกวันนี้การเรียนรู้มีหลายแบบ แต่การอ่านมีเสน่ห์ การอ่านทำให้มีสมาธิ การอ่านมีความเฉพาะ อาจไม่ใช่กิจกรรมแต่เป็นวัฒนธรรม สร้างการเรียนรู้ เวลาอ่านหนังสือเล่มเดิมแต่เวลาต่างกันความรู้สึกก็จะต่างกัน กทม. ให้ความสำคัญมาน่าจะตั้งแต่ยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เป็นเมืองหนังสือโลก กทม. มีทรัพยากรอยู่แล้ว หน้าที่คือทำอย่างไรให้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น จริง ๆ มีหลาย ๆ ที่ พร้อมให้ความช่วยเหลือ ไม่อยากจัดงานหนังสือในฮอลล์แล้ว อยากให้เป็นย่านหนังสือจริง ๆ มีร้านหนังสืออิสระมากขึ้น มีคนไปงานหนังสือได้ต่อเนื่องทั้งปี คิดว่าน่าจะต่อยอดได้

สำหรับกิจกรรม “หนังสือในสวน” แบ่งเป็น 3 โซนหลัก ๆ ที่ออกแบบให้เข้ากับผู้ร่วมงานหลากหลายประเภท หลากหลายอายุวัย ดังนี้

Zone A : Book Clubs เป็นโซนที่ล้อมวงนั่งพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ ของหนังสือที่ตนเองชื่นชอบ ไลฟ์สไตล์การอ่านของตัวเอง หาเพื่อนที่สนใจเรื่องเดียวกัน พูดจาภาษาเดียวกัน ในบรรยากาศสบาย ๆ และจะมีล้อมวงสำหรับพ่อ-แม่ ที่จะมาแลกเปลี่ยนทริคสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูก ๆ ด้วย

Zone B : Mini talk เวทีเสวนาบริเวณศาลาแปดเหลี่ยม พูดคุยใน 2 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อแรก “แลกเปลี่ยนเล่าประสบการณ์การอ่านและหนังสือในดวงใจ” พูดถึงหนังสือเล่มแรกที่พาเข้าวงการนักอ่าน และหนังสือที่จะแนะนำให้ตัวเองอ่านหากย้อนเวลากลับไปได้ หัวข้อที่สอง “เวทีประชาชนของคนชอบอ่าน” พูดคุยถึงการอ่านในเมืองกรุงเทพฯ ว่าเป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองนักอ่านได้

Zone C : นิทรรศการให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้แสดงความคิดเห็น แชร์ไอเดียพัฒนาห้องสมุด กทม. มาแนะนำหนังสือจากลิสต์ของตัวเอง และจัด Book Playlist ของตัวเอง รวมถึงการส่งต่อหนังสือที่มีประโยชน์ต่าง ๆ

------------------------------ (พัทธนันท์...สปส. รายงาน)












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น