ปลัด มท. ติดตามขับเคลื่อนงานสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเดือนกรกฎาคม 2565 เน้นย้ำ คนมหาดไทยต้องรู้งานรอบด้าน เป็นข้าราชการ 4.0 เป็นผู้นำการสร้างสิ่งที่ดีในพื้นที่ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ปลัด มท. ติดตามขับเคลื่อนงานสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเดือนกรกฎาคม 2565 เน้นย้ำ คนมหาดไทยต้องรู้งานรอบด้าน เป็นข้าราชการ 4.0 เป็นผู้นำการสร้างสิ่งที่ดีในพื้นที่

ปลัด มท. ติดตามขับเคลื่อนงานสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเดือนกรกฎาคม 2565 เน้นย้ำ คนมหาดไทยต้องรู้งานรอบด้าน เป็นข้าราชการ 4.0 เป็นผู้นำการสร้างสิ่งที่ดีในพื้นที่ เพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของพี่น้องประชาชนทุกคน

เมื่อวันที่  27 ก.ค. 65 เวลา 08.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย คณะผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการกองแผนงานของกรม/รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มงานในสำนักงานจังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด หัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายใน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งที่ผ่านขอขอบคุณคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ที่ได้มุ่งมั่นทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ทั้งนี้ ในการทำงานปัจจุบัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาและต่อยอดการทำงานให้มีความทันสมัย สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของตนเอง อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่องานราชการ งานเพื่อส่วนรวม ที่จะต้องบริการพี่น้องประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง มีข้อมูลในการสนับสนุนการบริหารราชการทั้งเชิงนโยบาย และในระดับพื้นที่ที่แม่นยำ มีการปรับปรุงอัพเดทข้อมูลตลอดเวลา จึงขอให้ทุกหน่วยงานและทุกจังหวัดได้พัฒนาส่งเสริมให้บุคลากรในสังกัดและภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคีเครือข่ายภาคราชการได้มีความรู้ที่จำเป็นสำหรับการเป็นข้าราชการยุค 4.0 ด้วยการจัดหลักสูตร/โปรแกรม ทั้งการพัฒนากระบวนงาน พัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาทักษะ อาทิ Social Listening ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Public Hearing ที่จะทำให้เรารู้ว่าสังคมกำลังพูดคุย กำลังสะท้อนสภาพปัญหา หรือมีข้อเสนอแนะอย่างไรต่องานที่กำลังขับเคลื่อน และย้ำเตือนให้บุคลากรต้องมีความพร้อมในการทำงานด้วยการรับฟังเสียงสะท้อนของพี่น้องประชาชน ภาคีเครือข่าย และทีมงานของจังหวัด/อำเภอ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน รวมทั้งการพัฒนาทักษะด้านการนำเสนองาน ด้านระเบียบ กฎหมาย การบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นต้น เพื่อให้ข้าราชการและบุคลากรเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี นั่นคือ “ต้องทำให้ผู้บังคับบัญชาทำในสิ่งที่เราอยากให้ทำ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานงานที่เรารับผิดชอบ ด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์พัฒนางานเพื่อพี่น้องประชาชนและชาวมหาดไทย ปลุกพลังภาวะผู้นำที่มีอยู่ในตัวเรามาขับเคลื่อนงานให้ประสบความสำเร็จให้ได้”

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบแนวทางการขับเคลื่อนงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เป็นรูปธรรม ได้แก่ 1) ให้ทุกจังหวัดหารือร่วมกับผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขา ร่วมกันประชาคมกำหนดวิธี ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยจากสาธารณภัยทุกชนิดในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยที่พี่น้องประชาชนอาจยังไม่คุ้นชิน หรือภัยที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสร้างความเสียหายจำนวนมาก อาทิ ดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว โดยต้องวางแผนกลยุทธ์และเตรียมความพร้อมว่าหากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น (Worst-Case Scenario) เพื่อจะได้มีแผนสำรองฉุกเฉิน และสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที บรรเทาความสูญเสียหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น 2) พัฒนากระบวนการทำงานด้านการสื่อสารกับสังคม ด้วยการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้สังคมวงกว้างได้รับทราบถึงแนวทางการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งนำผลการดำเนินงานหรือผลสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมที่สำคัญ มาประมวลและสรุปผลสื่อสารให้สังคมได้รับรู้รับทราบ 3) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประมวลประเด็นข้อแนะนำจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนงานของกระทรวงมหาดไทย และงานในระดับพื้นที่ เพื่อใช้ในการพัฒนางานให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน 4) ให้ทุกจังหวัดร่วมกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปยังช่างทอผ้า กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มศิลปาชีพ กลุ่มผ้าบาติก กลุ่มผ้ามัดหมี่ ผ้าขิด ผ้าแพรวา ยกดอก ทุกเทคนิค ทุกรูปแบบ ในพื้นที่ ร่วมส่งผลงานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เข้าประกวด ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ โดยได้ขยายเวลารับสมัครถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2565 โดยสามารถส่งได้มากกว่า 1 ชิ้น เพื่อร่วมกันส่งเสริมพัฒนาทักษะฝีมือและต่อยอดวิธีการรูปแบบให้กับผู้ประกอบการผ้าไทยได้มีความทันสมัย 5) ให้ทุกจังหวัดมุ่งมั่นขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เพื่อให้พี่น้องประชาชนทั้งในระบบ TPMAP และแพลตฟอร์ม ThaiQM ได้รับการแก้ไขปัญหา ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นตามหลักการอยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน และให้ดำเนินการสื่อสารกับสังคมเพื่อสร้างการรับรู้ สร้างพลังการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งอาจยังมีภาคีเครือข่ายอีกหลายส่วนที่เมื่อรับรู้รับทราบข้อมูล จะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน 6) ให้ทุกจังหวัดได้ขับเคลื่อนขยายผลการเผยแพร่องค์ความรู้ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ได้ส่งเสริมให้สถานศึกษาในพื้นที่ได้กำหนดให้มีหลักสูตรการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ครบทุกระดับชั้น รวมทั้งขยายผลหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย ไปในทุกโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสหยิบยืมหมุนเวียนกันมาศึกษาหาความรู้และซึมซับถึงรากเหง้าความเป็นไทยที่ธำรงให้ประเทศไทยยังคงอยู่ด้วยความเป็นเอกราช สร้างความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยร่วมกัน โดยมีสถาบันหลักของชาติ อันประกอบด้วย ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นที่ยึดเหนี่ยว สร้างความเข้มแข็งให้กับชาติบ้านเมืองจวบจนถึงปัจจุบัน และดำเนินการติดตามการขับเคลื่อนขยายผลทั้งด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และการปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ 1 คน 1 ต้น เป็นต้น

จากนั้นที่ประชุมได้มีการรายงานผลการขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งนำเสนอการขับเคลื่อนงานในห้วงเดือนกรกฎาคม 2565 และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ให้สำนักงานจังหวัดทุกจังหวัดได้ร่วมกับสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สนับสนุนภารกิจท่านผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการ ในการสร้างการรับรู้ผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน/ชุมชน ในทุกเช้า เพื่อสื่อสารข้อมูลให้กับพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ได้รับรู้รับทราบและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสร้างสิ่งที่ดี Change for Good ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมถึงบูรณาการภาคีเครือข่ายกับผู้นำศาสนา ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ระหว่างเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กระทรวงมหาดไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับคณะสงฆ์นำภาคีเครือข่าย ร่วมแรง ร่วมใจ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความสมัครสมานสามัคคี ความเอื้ออาทรต่อกันอย่างยั่งยืน

“ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ขับเคลื่อนขยายผลโครงการผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ระดับอำเภอ โดยมอบหมายให้นายอำเภอนำทีมงานของอำเภอนำร่องตัวแทนจังหวัดซึ่งผ่านการฝึกอบรมแล้ว เป็นวิทยากร ครู ก ขยายผลให้นายอำเภอ และทีมงานของทุกอำเภอ ได้เรียนรู้เทคนิค กระบวนการในการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะทีมงานของนายอำเภอ ทั้งทีมที่เป็นทางการ คือ คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) และทีมไม่เป็นทางการ คือ “7 ภาคีเครือข่าย” อันประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน รวมกันเป็น “ทีมอำเภอ” และ “ทีมตำบล” ในทุกพื้นที่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยมี นายอำเภอทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของอำเภอด้วยภาวะผู้นำในการขับเคลื่อนงานเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” พี่น้องประชาชน เพื่อเกียรติศักดิ์ศรี ความภาคภูมิใจ แรงปรารถนา (Passion) ที่มุ่งมั่นตั้งใจเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นผู้นำขับเคลื่อนงานของทุกกระทรวง ทบวง กรม ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อบังเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนมีความทุกข์น้อยลงจนหมดไป และมีแต่ความสุขที่ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น