ร่วมถกคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา ยกระดับคุ้มครองผู้บริโภคจากค่ารถไฟฟ้าถึงค่ารักษาพยาบาล...000 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

ร่วมถกคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา ยกระดับคุ้มครองผู้บริโภคจากค่ารถไฟฟ้าถึงค่ารักษาพยาบาล...000

ร่วมถกคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา ยกระดับคุ้มครองผู้บริโภคจากค่ารถไฟฟ้าถึงค่ารักษาพยาบาล
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กับสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) รวมถึงความร่วมมือขับเคลื่อนประเด็นผู้บริโภคตั้งแต่การยุติธุรกิจของผู้ประกอบการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค ไปจนถึงการทำให้ราคาค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ การผลักดันร่างกฎหมายความรับผิดชอบต่อสินค้าชำรุดบกพร่อง จนถึงค่ารักษาพยาบาลที่สูงจนทำให้ผู้บริโภคหมดตัว

สมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการฯ เข้าเยี่ยมชมการทำงานของสำนักงาน สอบ. โดยมีบุญยืน ศิริธรรม ประธาน สอบ. พร้อมด้วยสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. ให้การต้อนรับ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

โดยเลขาธิการ สอบ. ขอการสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการฯ 4 ข้อ ดังนี้
1.ขอให้กรรมาธิการฯ สนับสนุนข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลักดันให้รัฐมีนโยบายบริการขนส่งสาธารณะที่มีราคาค่าโดยสารไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ขั้นต่ำ ให้มีการยุติการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการและการกำกับดูแลอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ให้ลดอุปสรรคในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของประชาชน ให้พิจารณาประเด็นการเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลเมื่อใช้บริการสาธารณสุขในกรณีฉุกเฉิน เร่งด่วน เป็นต้น
2.ผลักดันกฎหมายที่มีความจำเป็นในการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความรับผิดต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง และร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ เป็นต้น
3.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากกับผู้บริโภค เช่น ปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นต้น
4.ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคโดยการสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการธุรกิจ เช่น การทำ MOU กับบริษัทในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อไม่ให้ริบเงินดาวน์ เงินจอง ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ทางด้าน สมชาย เสนอให้ สอบ. ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกัน เพื่อบูรณาการการคุ้มครองผู้บริโภคโดยยึดหลักประโยชน์สาธารณะ ซึ่งจะสามารถผลักดันการขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภค 8 ด้าน ที่เป็นการคุ้มครองด้านสุขภาพ การเงิน โทรคมนาคม เป็นต้น

โดยสมชาย แสดงความเชื่อมั่นว่า สอบ. จะสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก สอบ. และคณะกรรมาธิการฯ ร่วมกันขับเคลื่อนก็สามารถทำให้ธุรกิจที่ไม่สุจริตยุติการกระทำที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้

พร้อมกันนั้น ถนัด มานะพันธ์นิยม เลขานุการคณะกรรมาธิการและรองประธาน คณะอนุกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เสนอความเห็นในการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคที่เข้ามาร้องเรียน โดยกล่าวว่า ขอให้ สอบ. เชิญผู้ประกอบการมาร่วมเจรจาเมื่อมีการร้องเรียนจากผู้บริโภค เพื่อนำไปสู่การเยียวยาแก้ไขอย่างรวดเร็ว หรือหากเจรจาไม่สำเร็จก็นำเรื่องไปสู่ศาล ซึ่งในกรณีการเจรจาไม่เป็นผล ผู้บริโภคก็สามารถรวมกลุ่มเพื่อฟ้องดำเนินคดีได้ หรือหากเป็นรายบุคคล ก็สามารถฟ้องเป็นคดีแพ่ง พ.ร.บ.พิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถนัดตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผู้ประกอบการนำไปใช้ เพื่อฟ้องผู้บริโภคถึงร้อยละ 93 ในขณะที่ผู้บริโภคใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้เพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดกฎหมายฉบับนี้จึงไม่เอื้อต่อการให้ผู้บริโภคที่ได้รับความไม่เป็นธรรมเป็นผู้ฟ้อง

ในกรณีภาระค่ารักษาพยาบาลที่เลขาธิการ สอบ. กล่าวถึงในข้อเสนอนั้น ถนัด กล่าวว่า ขณะนี้มีการแก้ปัญหายาในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และร้านขายยาให้มีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคแล้ว ซึ่งจากการศึกษา พบว่า ค่ายาในโรงพยาบาลรัฐไม่มีปัญหา ส่วนราคายาในโรงพยาบาลเอกชน กรมการค้าภายในแก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้ว โดยจัดทำโครงการโรงพยาบาลคุณธรรม ที่มีค่ารักษา ค่ายา และค่าบริการที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยอ้างอิงมาจากคู่มือหลักของแพทยสภา

ประเด็นค่ารักษาพยาบาล เลขาธิการ สอบ.กล่าวเพิ่มเติมว่า สอบ. พบว่าค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ในประเทศไทย ในบางกรณี เช่นการผ่าตัดสมองสูงกว่าค่าผ่าตัดสมองที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งปัจจัยหนึ่งมาจากเพดานการกำหนดราคาค่าวิชาชีพแพทย์ที่ออกโดยแพทยสภาสูงเกินไป หากเป็นการเจ็บป่วยด้วยกรณีฉุกเฉินแล้วไปรับบริการกับโรงพยาบาลเอกชน อาจจะทำให้คนไข้หมดตัวได้

ขณะนี้ สอบ. กำลังหาทางที่จะช่วยเหลือผู้บริโภคช่วงวิกฤตเช่นนี้อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สอบ. ได้เสนอไปยังกรมการค้าภายใน ขอให้โรงพยาบาลเอกชนใช้ระบบราคาเดียวกันกับที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายเมื่อการรักษานั้น เข้าข่ายกรณีฉุกเฉินของผู้บริโภค แต่ไม่ใช่เข้าข่ายกรณีฉุกเฉินของโรงพยาบาล

ด้านคณะกรรมาธิการฯ ได้รับฟังข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารของ สอบ. และให้ความเชื่อมั่นในการสนับสนุนการดำเนินงานของ สอบ. ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น