แจงความคืบหน้าปลูกต้นไม้ล้านต้น ผ่านแอป BKK-plant แก้ไขปัญหาคนเมืองผ่านระบบ Traffy Fondue พลังของแพลตฟอร์ม เปลี่ยนระบบราชการได้ - MSK News

Breaking

  

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565

demo-image

แจงความคืบหน้าปลูกต้นไม้ล้านต้น ผ่านแอป BKK-plant แก้ไขปัญหาคนเมืองผ่านระบบ Traffy Fondue พลังของแพลตฟอร์ม เปลี่ยนระบบราชการได้

add

290975848_349029384071884_457210654998504693_n
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 65 ณ ห้องประชุมและวางแผน (WAR ROOM) ชั้น 35 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการต้นไม้ล้านต้น และการแก้ไขเรื่องร้องทุกข์ผ่านระบบ “Traffy Fondue” ภายหลังจากการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2565 ว่า เป้าหมายการปลูกต้นไม้ล้านต้น เพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง สร้างร่มเงา ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ โดยแบ่งยุทธศาสตร์การปลูกเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะของพื้นที่ ดังนี้

290600502_349029444071878_4621777871825906618_n
1. พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะน้อย เช่น เขตหนองจอก เขตคลองสามวา เป้าหมายเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ปลูกไม้ยืนต้น 75% พุ่มกลาง 20% เถา 5% 2. พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะมาก เช่น เขตประเวศ เขตจตุจักร เป้าหมายเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกไม้ยืนต้น 75% พุ่มกลาง 20% เถา 5% 3. พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะน้อย เช่น เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป้าหมายเพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง ให้ร่มเงา ปลูกไม้ยืนต้น 40% พุ่มกลาง 50% เถา 10% และ 4. พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะมาก เช่น เขตพระนคร เขตดุสิต เป้าหมายเพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกไม้ยืนต้น 30% ไม้พุ่มกลางไม่เกิน 70% โดยมีการตั้งเป้าการปลูกในส่วนราชการอื่น ๆ 10,000 ต้น ภาคประชาชน 50,000 ต้น สำนักสิ่งแวดล้อม 200,000 ต้น บริษัทเอกชน 240,000 ต้น และสำนักงานเขต 500,000 ต้น โดยชุมชนในพื้นที่ กทม. ร่วมกันเพาะกล้าไม้ ช่วยสร้างการจ้างงานเพิ่มในชุมชน
290525347_349029484071874_3457885336736557616_n
ปัจจุบันได้ดำเนินการปลูกต้นไม้แล้ว จำนวน 26,122 ต้น แบ่งเป็น ไม้ยืนต้น 9,692 ต้น ไม้พุ่ม 11,776 ต้น และไม้เลื้อย 4,654 ต้น โดยเขตบางกะปิปลูกมากที่สุด คิดเป็น 37% สำหรับหน่วยงานภาคเอกชนที่แจ้งความประสงค์ปลูกต้นไม้ ได้แก่ ดิ เอราวัณ 100 ต้น ปตท. 100,000 ต้น SCG 100,000 ต้น แสนสิริ 20,000 ต้น CP 100,000 ต้น สมาคมนักธุรกิจไต้หวัน 50,000 ต้น ThaiPBS 1,000 ต้น Dubble A 100,000 ต้น Bangkok Residence 400 ต้น AIA 10,000 ต้น Central Group 100,000 ต้น รวมจำนวน 581,400 ต้น และยังมีเอกชนอีกหลายแห่งซึ่งอยู่ระหว่างการยืนยันจำนวน นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่ กทม. ได้ประสานขอไป เช่น สภาอุตสาหกรรม หอการค้าไทย อยู่ระหว่างการตอบรับ ดังนั้นจะมีเกือบ 600,000 ต้น ที่ภาคเอกชนให้มาแล้ว
290767132_349029534071869_287670330849138868_n
“ถ้าเราร่วมมือกันโดยไม่ใช้งบประมาณสามารถดำเนินการได้เร็ว เป็นนโยบายระยะยาว เนื่องจากต้องใช้เวลาปลูก แต่เราเริ่มต้นได้เร็ว เชื่อว่า 4 ปี เราได้ครบหนึ่งล้านต้น กรุงเทพจะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลต้นไม้ที่ได้ปลูกแล้ว 26,122 ต้น จะถูกบันทึกอยู่ในฐานข้อมูลในแอปพลิเคชัน BKK-plant ทั้งหมด โดยมีรายละเอียดชื่อกิจกรรม วันที่ปลูก สถานที่ปลูก ชนิดของต้นไม้ และชนิดของต้นไม้ที่แนะนำสำหรับพื้นที่ (ระยะ 2) พร้อมรูปถ่าย และต่อไปต้นไม้ล้านต้นก็จะถูกบันทึกเช่นเดียวกัน สุดท้ายในอนาคตอาจขายเป็นคาร์บอนเครดิตให้กับเมืองได้
ในส่วนของความคืบหน้าการดำเนินการตามเรื่องร้องทุกข์ผ่านระบบ “Traffy Fondue” พบว่า 50% ของประเภทและสาเหตุของปัญหา เป็นเรื่องถนน ทางเท้า แสงสว่าง น้ำท่วม สายไฟ และขยะ โดยสำนักงานเขตและสำนักสามารถรู้ว่าปัญหาสำคัญคืออะไร กระจุกตัวอยู่ที่ไหน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ใจกลางเมือง จากข้อมูลสถิติ ระหว่างวันที่ 29 พ.ค. – 27 มิ.ย. 65 มีเรื่องเข้ามาในระบบทั้งสิ้น 54,929 เรื่อง มีจำนวนการแจ้งปัญหาเพิ่ม 41 เท่า ใน 29 วัน รอรับเรื่อง 4,458 เรื่อง คิดเป็น 8% ดำเนินการแล้ว 21,196 คิดเป็น 39% ส่งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ 10,202 คิดเป็นร้อยละ 19% เสร็จสิ้น 19,436 คิดเป็น 35% โดยมีจำนวนผู้รายงานปัญหาเพิ่มขึ้น 6 เท่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30-34 ปี คิดเป็น 20.5 % รองลงมาคือ 25-29 ปี คิดเป็น 20.1% และมีจำนวนเขต 40 ใน 50 เขต รับเรื่องและเริ่มดำเนินการไปแล้วมากกว่า 90%
“นี่คือพลังของแพลตฟอร์ม ที่เราเปลี่ยนการบริหารจัดการจากระบบท่อเป็นแพลตฟอร์ม ทุกหน่วยงานสามารถหยิบเรื่องไปแก้ไขได้เลย โดยที่ผู้ว่าฯ ไม่ต้องสั่งการ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ระบบ “Traffy Fondue” ยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง โดยได้เพิ่มฟังก์ชันการทำงานใหม่ เช่น ประเมินความพึงพอใจ และหากผู้แจ้งที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงาน สามารถแจ้ง “เปิดเรื่องใหม่” ได้โดยไม่ต้องร้องซ้ำ นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชันแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างเขต โดยเขตที่ปฏิบัติการได้ดีช่วยแบ่งปันประสบการณ์การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพให้เขตอื่น ๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความเข้มแข็งมากขึ้น ปัจจุบันมีหน่วยงานภายนอกในพื้นที่ กทม. เข้าร่วมระบบกว่า 80 หน่วยงาน ทั้งรัฐวิสาหกิจ สถานีตำรวจ กระทรวง และเอกชน
290740597_349029567405199_5036773495252927495_n
“ต่อไปเราสามารถสั่งงานผ่านแพลตฟอร์มข้ามหน่วยงานได้ ถ้าขยายไประดับประเทศได้ก็จะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนระบบราชการเลย เราสามารถรับร้องเรียนผ่านระบบโดยไม่ต้องมีคนสั่งการ ทุกคนเข้ามาร่วมกันบริการประชาชน ซึ่งทุกคนยินดีที่สามารถทำระบบบริการให้ดีขึ้นได้ ข้าราชการก็พร้อมที่จะทำงาน ขอบคุณเจ้าหน้าที่ กทม.ทุกคนเลย ทุกคนตื่นเต้นและสนุกไปกับเราด้วย ผมว่าประชาชนมีความสุข ข้าราชการมีความสุข เมืองต้องดีขึ้นแน่นอน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
สำหรับแนวทางการพัฒนาต่อยอด Traffy Fondue 1. แยกกล่อง Dashboard เพื่อให้เขตและสำนักสามารถแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงได้ดีขึ้น 2. เพิ่มกล่อง ปัญหาที่ต้องแก้เชิงนโยบาย รับข้อเสนอแนะของประชาชนที่อยากเสนอความคิดเห็นเพื่อพัฒนา 216 นโยบาย หรือเพิ่มเติมนโยบายใหม่ 3. เปิดกล่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ กทม. ที่ฝ่ายกลางสามารถรับเรื่องราวได้โดยตรง 4. ประสานหน่วยงานต่าง ๆ นอก กทม. ให้มาเข้าร่วมแก้ไขปัญหาให้ประชาชนร่วมกันมากขึ้น ขณะนี้หารือกับรองจเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และกำลังจะเซ็น MOU ร่วมกันเร็ว ๆ นี้ และ 5. ชวนประชาชนมาใช้ Open Data ไปพัฒนา เพื่อให้เขตและสำนักนำข้อมูลไปใช้งานได้ง่ายขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ฟอร์มรายชื่อติดต่อ

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *