เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 65 เวลา 17.00 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวง พม. พร้อมด้วย นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (อธิบดี พส.) ในฐานะโฆษกกระทรวง พม. และนางพรนิภา มาสิลีรังสี รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (รองอธิบดี พก.) ในฐานะโฆษก พก. ร่วมแถลงข่าวชี้แจง กรณีคนพิการร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิการจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 และการส่งเสริมอาชีพคนพิการ ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวว่า กระทรวง พม. ขอชี้แจงในประเด็นที่มีการร้องเรียนดังกล่าวว่า ในเบื้องต้น พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีมาตราที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอาชีพคนพิการอยู่ 3 มาตรา ได้แก่ 1) มาตรา 33 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้มีการจ้างงานคนพิการ โดยสถานประกอบการที่มีการจ้างคน 100 คนขึ้นไป ซึ่งในจำนวน 100 คน จะต้องมีการจ้างงานคนพิการ 1 คน 2) มาตรา 34 เป็นเรื่องของสถานประกอบการที่ไม่ได้มีการจ้างงานคนพิการ ซึ่งจะต้องส่งเงินเข้าไปสนับสนุนกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนพิการ และ 3) มาตรา 35 เป็นเรื่องของการจัดกิจกรรมหรือจัดงบประมาณเพื่อส่งเสริมอาชีพคนพิการ ทั้งนี้ในประเด็นที่มีการร้องเรียนนั้น เป็นเรื่องของการส่งเสริมอาชีพคนพิการ เนื่องจากคนพิการเข้ามาร้องเรียนว่าไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย ในส่วนของการส่งเสริมอาชีพคนพิการนั้น มีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งเมื่อกระทรวง พม. ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว จะส่งเรื่องไปยังกรมการจัดหางาน
โดยกระทรวง พม. ได้รับเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2561 และได้ทยอยส่งเรื่องไปให้กรมการจัดหางานเพื่อเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วดำเนินการให้สอดคล้องและถูกต้องกับกฎหมายที่ระบุไว้ ซึ่งในระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2561 – 2563 มีการทำงานในพื้นที่โดยกรมการจัดหางานได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องสิทธิประโยชน์กับคนพิการ ซึ่งทุกเรื่องได้รับการคลี่คลายทั้งหมดแล้ว และส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวง พม. โดยเราทำหน้าที่ในการรับเรื่องและยุติเรื่อง นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า ในขณะเดียวกัน เมื่อมีประเด็นเรื่องของการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ กระทรวง พม. ได้มอบหมายให้ พก. ซึ่งมีศูนย์บริการคนพิการในระดับจังหวัดในทุกจังหวัด โดยจัดส่งนักสังคมสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านคนพิการในแต่ละหลังที่มีรายชื่อเข้ามาร้องเรียน เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์ นนทบุรี และสมุทรสาครเป็นต้น โดยดำเนินการใกล้ชิดกับคนพิการและทำหน้าที่ช่วยเหลือตามภารกิจของกระทรวง พม. อาทิ การสงเคราะห์เป็นเงินสงเคราะห์ครอบครัว การสนับสนุนเงินกู้ยืมประกอบอาชีพคนพิการ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกกรณีที่จำเป็น รวมถึงการดูแลสมาชิกในครอบครัวคนพิการ
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามนโยบายของนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้เน้นย้ำให้กระทรวง พม. โดย พก. ดูแลคนพิการทุกคน ไม่ให้มีการตกหล่น ทั้งนี้ หากคนพิการหรือประชาชนพบเห็นคนพิการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายดังกล่าว ขอให้แจ้งเข้ามาที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง และ โทร. 02 354 3388 ซึ่งขอยืนยันว่า กระทรวง พม. จะให้การคุ้มครองดูแลคนพิการทุกคนให้ได้รับสิทธิเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น