เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 65 ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 23/2565 โดยมี นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และประชุมผ่านระบบทางไกล
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้คลี่คลายลง และพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี 4/2565 เรื่อง ยกเลิกศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด – 19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ในส่วนของกรุงเทพมหานครจะมีการปรับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์บริหารสาธารณสุขฉุกเฉิน เพื่อใช้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านสาธารณสุขด้านต่าง ๆ ต่อไปที่ประชุมได้รายงานข้อมูลนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่ติดเชื้อโควิด – 19 (รายระดับชั้น) ในช่วงระยะเวลาเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 จนถึงปัจจุบัน ในระดับชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนทั้งสิ้น 253,515 มีจำนวนนักเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,587 คน คิดเป็นร้อยละ 0.63 โดยพบว่าผู้ติดเชื้อมากที่สุดอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเด็กนักเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการค่อนข้างน้อย เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา ทำให้เฝ้าสังเกตอาการได้ยาก
ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักการศึกษาและโรงเรียนในสังกัด กทม. เฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เพราะมีความเสี่ยงที่เด็กอาจนำเชื้อไปแพร่ให้กับคนครอบครัวได้ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 รวมทั้งให้สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย ติดตามข้อมูลจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลง รวมทั้งพื้นที่ที่พบผู้ป่วยโควิด-19 ภายหลังจากมีมาตรการผ่อนคลายสถานบริการ และมาตรการผ่อนคลายข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทั่วราชอาณาจักร
ในส่วนของสถานบริการ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรุงเทพมหานคร ได้จัดชุดตรวจบูรณาการ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน บูรณาการความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการดังกล่าวอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง โดยจะมีการสุ่มตรวจ ATK กับผู้ใช้บริการเป็นระยะ เพื่อให้เกิดมั่นใจและความปลอดภัยสูงสุดทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ :Cr;มณสิการ รามจันทร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น