ปลัดกระทรวงมหาดไทยติดตามขับเคลื่อนงานพัฒนากร 18 อำเภอของจังหวัดสกลนคร ย้ำหน้าที่สำคัญ "การพัฒนาคน" - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ปลัดกระทรวงมหาดไทยติดตามขับเคลื่อนงานพัฒนากร 18 อำเภอของจังหวัดสกลนคร ย้ำหน้าที่สำคัญ "การพัฒนาคน"

ปลัดกระทรวงมหาดไทยติดตามขับเคลื่อนงานพัฒนากร 18 อำเภอของจังหวัดสกลนคร เน้นย้ำ หน้าที่สำคัญของคนมหาดไทยและพัฒนากรทุกคน คือ "การพัฒนาคน" ให้คนไปพัฒนาครอบครัว ครอบครัวไปพัฒนาชุมชน เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 65 เวลา 12.45 น. ที่โรงเรียนบ้านดอนกอย อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ประชุมติดตามการขับเคลื่อนและมอบแนวทางการทำงานตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยให้กับพัฒนาการอำเภอในพื้นที่จังหวัดสกลนคร โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม พัฒนาการอำเภอทั้ง 18 อำเภอของจังหวัดสกลนคร ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พัฒนากรต้องทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กระทรวงมหาดไทยคาดหวังดังวิสัยทัศน์ของกรมการพัฒนาชุมชนที่ว่า “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้" พร้อมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจของกระทรวงมหาดไทยในการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการบูรณาการระดมองค์ความรู้และทรัพยากรบุคคลในพื้นที่ สนับสนุนการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน รวมถึงติดตาม สนับสนุน และประเมินผลสัมฤทธิ์ของงาน พร้อมทั้งให้คำแนะนำแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการระดมสรรพกำลังภาคีเครือข่ายผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ จากทุกสาขาวิชาชีพ รวมทั้งพี่น้องประชาชนผู้มีจิตเสียสละ และนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์มาถ่ายทอดให้กับพี่น้องประชาชนในอำเภอ ในหมู่บ้าน/ชุมชน ในตำบล เพื่อส่งเสริมบทบาทของท่านนายอำเภอ ในฐานะ "ผู้นำของอำเภอ" ในการ "พัฒนาคน" ให้คนไปพัฒนาครอบครัว ครอบครัวไปพัฒนาชุมชน

"เราต้องมุ่งมั่นทำงานเป็นทีม เป็นส่วนหนึ่งของ "ทีมนายอำเภอ" ที่ต้องรับผิดชอบงานให้ดีที่สุดโดยยึดหลักการทำงาน 3 องค์ประกอบที่เรียกว่า RER ได้แก่ 1) ทีมงานประจำ (Routine Team) โดยทีมงานปกติตามอำนาจหน้าที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ที่ต้องทำงานให้ดีและพัฒนางานอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ โดยมี นายอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการเป็น "ผู้นำ" ในการคิด การพัฒนา ปรับปรุง และโค้ชชิ่งงานเพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ที่กำหนด 2) ทีมภารกิจพิเศษ (Extra Job , Flagship Project) เป็นการดึงจุดแข็งของพื้นที่ที่เราอยากทำให้เบ่งบาน เป็นมรรคผลให้กับชาวบ้านเพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างทีมที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์งานที่ต่อยอด สร้างผลสัมฤทธิ์ที่เพิ่มพูนขึ้นจากงานปกติ เช่น ทีมผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง ระดับอำเภอ ตามโครงการอำเภอนำร่องการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการ ที่เป็นการรวมทีมงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน โดยมี นายอำเภอ เป็นผู้นำบูรณาการขับเคลื่อนงาน โดยยึดแนวทาง "ผู้นำต้องทำก่อน" อาทิ การส่งเสริมการสวมใส่ผ้าไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน เป็นต้น รวมถึงงานทุกเรื่องที่เกี่ยวโยงกับภารกิจในการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" และ 3) การสื่อสาร/รายงาน (Report) ด้วยการรายงานความสำเร็จและข้อผิดพลาดที่เกิดจากการทำงานให้ผู้บังคับบัญชาได้ทราบเพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงงาน รวมถึงต้อง "สื่อสารกับสังคม" ให้คนในสังคมได้รับรู้ ด้วยการเขียนข่าว แถลงข่าว การประชาสัมพันธ์ ซึ่งถือเป็นหัวใจของการทำงานในปัจจุบัน โดยขอให้พัฒนาการอำเภอทุกท่านช่วยกันปรึกษาหารือว่าจะบูรณาการงานอย่างไร เพื่อให้งานครบถ้วนสมบูรณ์ เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า พัฒนาการอำเภอต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ทำหน้าที่ Coach ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอ เช่น การประสานงานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครในการพัฒนาพื้นที่บ้านดอนกอยเป็นแปลงโคก หนอง นา ด้านผ้า ด้วยการปลูกป่า 5 ระดับ ที่เน้นต้นไม้ให้สีธรรมชาติ และต่อยอดสู่โครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 3 รอบ (36 พรรษา) 8 มกราคม 2566 และการต่อยอดพัฒนาวิชชาลัยดอนกอย ให้เป็น Home Stay เพื่อเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ และท่องเที่ยว โดยนำเอาจุดแข็ง เรื่องผ้า เรื่องธรรมชาติ เรื่องวิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็นแนวทางการขับเคลื่อน นอกจากนี้ พัฒนาการอำเภอทุกอำเภอ เป็นฟันเฟืองสำคัญในการสนับสนุนบทบาทท่านนายอำเภอในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผ่านกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระดับอำเภอ (ศจพ. อำเภอ) เพื่อบูรณาการทุกส่วนราชการในพื้นที่ร่วมแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนครัวเรือนเป้าหมายในระบบ TPMAP และ ThaiQM ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้

"หน้าที่สำคัญของคนมหาดไทย และพัฒนากรทุกท่าน คือ "การพัฒนาคน" ให้คนไปพัฒนาครอบครัว ครอบครัวไปพัฒนาชุมชน ให้คนเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นผู้เบิกบาน โดยมีเราเป็น "ผู้นำต้องทำก่อนในทุกเรื่อง" ทั้งการคัดแยกขยะ การทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติ การปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการสวมใส่ผ้าไทย และต้องช่วยกันส่งเสริมบทบาทของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัด และท่านนายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ในการเป็น "ผู้นำ" ของส่วนราชการทุกกระทรวง ทุกกรม ในพื้นที่ด้วยการเป็น "เสนาธิการ" ให้กับนายอำเภอ เป็นผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนงานท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกเรื่อง เช่น ในเรื่องการจัดหาชุดลูกเสือ ให้กับนักเรียนครัวเรือนที่เดือดร้อน เมื่อเรามีข้อมูลว่าครัวเรือนใดไม่สามารถจัดหาชุดให้ลูกได้ ก็ต้องรวบรวมข้อมูล และรายงานนายอำเภอเพื่อรายงานผู้ว่าราชการจังหวัด ในการระดมสรรพกำลังในพื้นที่ ร่วมกันสนับสนุนการจัดหาชุดลูกเสือ รองเท้า ถุงเท้า เข็มขัด หมวก ผ้าพันคอ ให้กับนักเรียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนทุกเรื่อง พร้อมทั้งมุ่งมั่นช่วยกันทำความดี ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ไม่มีช่องว่างของศักดินาและความเป็นเจ้าขุนมูลนายมาปิดกั้น ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน และขอให้พวกเราพบกันในทุกพื้นที่ "ด้วยรอยยิ้ม" เพราะพี่น้องประชาชนทุกคนยิ้มด้วยริมฝีปากและแววตาจากหัวใจที่เป็นสุข "จากการทำความดีของพวกเราพัฒนากรและคนมหาดไทยทุกคน" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น