รมว. แรงงาน แจงแนวทางนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตาม MoU และการนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมาเข้ามาทำงานตามมาตรา 64 หลังศบค.เห็นชอบปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศครั้งใหม่ ยกเลิกกักตัวทุกรูปแบบนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยยกเลิกการกักตัวทุกรูปแบบ เพื่อรองรับการเปิดประเทศ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในส่วนของกระทรวงแรงงานจะเปิดให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่เข้ามาทำงานตาม MoU (ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ) และแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานแบบไปกลับ หรือตามฤดูกาล (มาตรา 64) เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ตามแนวทางของศบค. แต่ก่อนที่แรงงานจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย นายจ้างจะต้องซื้อประกันสุขภาพให้แรงงานต่างด้าว และหลังเดินทางเข้ามาจะต้องตรวจสุขภาพ 6 โรคตามกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและโรคต้องห้าม รวมทั้งตรวจ ATK หากไม่พบเชื้อโควิด – 19 ให้ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อรับใบอนุญาตทำงาน จากนั้นนายจ้างสามารถรับเข้าทำงานในสถานประกอบการได้เลย หากพบเชื้อโควิด – 19 กรณีเป็นกลุ่มสีเขียวให้กักตัวที่สถานกักตัวแบบ OQ กรณีสีเหลือง หรือสีแดง ให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษาพยาบาล ในส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม นายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
“สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการจ้างแรงงาน 3 สัญชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ปัจจุบันไม่ได้มีความยุ่งยาก เช่นช่วงก่อนผ่อนคลายมาตรการแล้ว การปรับมาตรการของศบค.ในครั้งนี้ จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และลดปัจจัยที่ทำให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองเพื่อทำงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งล่าสุดมีการยื่นดีมานต์ขออนุญาตจ้างคนต่างด้าวตามระบบ MOU แล้ว 236,012 คน โดยแบ่งเป็นนายจ้างที่มีความต้องการจ้างแรงงานสัญชาติเมียนมา 165,376 คน กัมพูชา 52,428 คน และลาว 18,208 คน ซึ่งแรงงานทั้ง 3 สัญชาติมีการทยอยเข้ามาทำงานตาม MOU แล้วอย่างต่อเนื่องกว่า 1 หมื่นคน ในส่วนแรงงานต่างด้าว ตามมาตรา 64 มีการเดินทางเข้ามาทำงานและขออนุญาตทำงานแล้วกว่า 2 หมื่นราย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการปรับมาตรการการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และการปรับลดมาตรการการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามมาตรา 64 ดังนี้
1.การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU)
มาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
1). ให้แรงงานแสดงเอกสารหลักฐานที่ยืนยันหรือแสดงว่ามีนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการรับรองโดยกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับแรงงานเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร (Name List)
2). หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด - 19
3). กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด -19 ครอบคลุมความคุ้มครอง ในวงเงินไม่น้อยกว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ
4). นายจ้างแจ้ง วัน เวลาเดินทางที่ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างล่วงหน้า
มาตรการเมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแรงงานต่างด้าวสามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ 3 ช่องทาง ประกอบด้วย ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยหากรับวัคซีนครบโดส หรือฉีดวัคซีนไม่ครบแต่มีผลตรวจ RT – PCR หรือ ATK Professional Use ใน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทาง สามารถตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 2 ปี ตรวจสุขภาพ 6 โรค ตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หากไม่พบเป็นโรคต้องห้าม 6 โรค และไม่พบเชื้อโควิด – 19 แรงงาน 3 สัญชาติจะเข้ารับการอบรม ณ ศูนย์แรกรับฯ รับใบอนุญาตทำงานจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด และเข้าทำงานในสถานประกอบการได้เลย กรณีพบเชื้อโควิด – 19 ถ้าไม่มีอาการ หรือกลุ่มสีเขียวให้กักตัวที่สถานกักตัวแบบ OQ หากมีอาการกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง ให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษา หากมีส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมนายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จากนั้นเมื่อตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ให้ดำเนินการตามขั้นตอนเดียวกับแรงงานข้ามชาติที่ไม่พบเชื้อ เพื่อรับใบอนุญาตทำงานและเข้าทำงานในสถานประกอบการต่อไป
กรณีแรงงานข้ามชาติที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบโดส จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรทางการแพทย์ (professional use) หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จากนั้นดำเนินการเช่นเดียวกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดส
ทั้งนี้ การตรวจหาเชื้อโรคโควิด - 19 ให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย กรณีที่ตรวจพบเชื้อให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษาพยาบาลซึ่งในส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
2.การนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามมาตรา 64
มาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
1.) นายจ้างยื่นแบบแจ้งบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (ม.64) ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด
2.) แสดงหนังสือผ่านแดน (Border Pass)
3.) หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด - 19
4.) กรมธรรม์ที่คุ้มครองการรักษาโรคโควิด -19 หรือหลักประกันอื่น
มาตรการเมื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร แรงงานต่างด้าวสามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ 9 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย จ.ตาก จ.กาญจนบุรี จ.ระนอง จ.จันทบุรี จ.สระแก้ว จ.ตราด จ.สุรินทร์ และ จ.ศรีสะเกษ เมื่อเดินทางข้ามแดนเข้ามาจะผ่านด่านควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ซักประวัติสุขภาพแรงงานต่างด้าว โดยการคัดกรองอาการทางเดินหายใจ และวัดไข้ กรณีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว หรือฉีดวัคซีนไม่ครบแต่มีผลตรวจ RT – PCR หรือ ATK Professional Use ใน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทาง ให้ทำการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) กรณีฉีดวัคซีนไม่ครบโดส ให้ตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ด้วยวิธี Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคลากรทางการแพทย์ (professional use) หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และตรวจโรคห้าม 6 โรค กรณีไม่พบเชื้อโควิด- 19 และไม่พบโรคห้าม 6 โรค เจ้าหน้าที่จะตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร 30 วันต่อครั้ง และออกใบอนุญาตทำงาน 3 เดือน และสามารถเข้าทำงานในสถานประกอบการได้ กรณีพบเชื้อโควิด – 19 ถ้าไม่มีอาการ หรือกลุ่มสีเขียวให้กักตัวที่สถานกักตัวแบบ OQ หากมีอาการกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง ให้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษา หากมีส่วนที่สิทธิดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมนายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จากนั้นเมื่อตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ให้ดำเนินการตามขั้นตอนเดียวกับแรงงานข้ามชาติที่ไม่พบเชื้อ เพื่อรับใบอนุญาตทำงานและเข้าทำงานในสถานประกอบการต่อไป
วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565
เปิดประเทศเต็มรูปแบบ มีผล 1 มิ.ย. 65 เป็นต้นไป ก.แรงงานปรับมาตรการนำเข้าต่างด้าว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
Author Details
สื่อมวลชนหัวใจยุติธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น