1. โรงเรียนต้องให้ความรู้ถึงโทษของบุหรี่ ถ้าเด็กเข้าใจโทษ อาจจะช่วยในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้นที่จะไม่ไปยุ่ง ทั้งในเรื่องของบุหรี่ รวมถึงแอลกอฮอล์ หรือกัญชา เพราะฉะนั้น โรงเรียนต้องเป็นแหล่งข้อมูลที่ชัดเจน
2. โรงเรียนต้องเอาจริงเอาจัง ต้องปลอดบุหรี่ กัญชา แอลกอฮอล์ กระท่อม ซึ่งกฎหมายเขาบังคับนักเรียนอยู่แล้ว โดยต้องมีมาตรการดูแลไปจนถึงเขตหน้าโรงเรียน ข้างโรงเรียน ซึ่งควรห้ามสิ่งเหล่านี้เข้ามาใกล้
3. ต้องมีการสอดส่องดูแลใกล้ชิด เช่น เพื่อนดูแลเพื่อน ระบบสารวัตรนักเรียน บางทีครูอาจจะไม่ได้ใกล้ชิดนักเรียน เท่าที่นักเรียนเห็นพฤติกรรมนักเรียนด้วยกันเอง อาจจะต้องมีระบบที่นักเรียนต้องช่วยกันในการดูแลเพื่อน และแจ้งครูเมื่อเห็นปัญหา เพื่อให้ครูรีบมาดูแลตั้งแต่ต้น
4. โรงเรียนต้องหากิจกรรมนอกหลักสูตร เช่น การเล่นกีฬา เพื่อให้เด็กมีทางเลือก ไม่ให้เกิดการมั่วสุมอบายมุข บุหรี่ หรือสารเสพติด
5. หน่วยงานด้านสาธารณสุขของ กทม. ต้องให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในการดูแลเรื่องการบำบัดเพื่อเลิกบุหรี่ หรือการบำบัดเพื่อเลิกสารเสพติดต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์บริการสาธารณสุขหลายแห่งให้บริการอยู่
ทั้ง 5 องค์ประกอบเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยไม่ให้เด็กและเยาวชนไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ รวมถึงแอลกอฮอล์ กัญชา กระท่อม ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำอันตรายให้แก่สุขภาพทั้งนั้น
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงเรียนในสังกัดกทม. มี 437 แห่ง ซึ่ง กทม.ต้องทำหน้าที่แทนพ่อแม่ จะต้องเป็นโรงเรียนสีขาว เอาจริงเอาจัง โดยครูจะต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่นักเรียน ไม่ใช่ครูห้ามนักเรียน แต่ตนทำเอง แบบนี้ไม่ได้
"ที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณบุคลากรทุกท่านที่ทำได้ดีมาก ช่วยดูแลลูกหลานเราอย่างดี คือต้องอย่าคิดว่าเป็นเด็กนักเรียนคนหนึ่ง ให้คิดว่าเขาเป็นลูกหลานเรา ทำหน้าที่แทนพ่อแม่เขาในช่วงที่เขาเอาลูกมาฝากไว้กับโรงเรียน ผมว่าเด็กและเยาวชนเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดของเมือง เพราะเมืองจะไปได้ขึ้นอยู่กับเด็กและเยาวชนเหล่านี้ ขอบคุณที่ทำให้โรงเรียน กทม. เป็นแหล่งปลอดบุหรี่ ปลอดแอลกอฮอล์ เป็นโรงเรียนสีขาวได้เป็นอย่างดี ถ้าขาดเหลืออุปกรณ์ ทรัพยากร ให้แจ้งมาครับ กทม.จะสนับสนุนให้ทุกอย่างเลย เพราะไม่มีอะไรที่สำคัญกว่าเยาวชนของเราอีกแล้ว" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น