รองนายกฯ พลเอก ประวิตร กำชับหน่วยงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ดันประเทศไทยขึ้น Tier2 ปีนี้ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

รองนายกฯ พลเอก ประวิตร กำชับหน่วยงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ดันประเทศไทยขึ้น Tier2 ปีนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่  11 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 รวมทั้งแถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้หน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้รับทราบถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน และให้เจ้าหน้าที่ได้นำแผนปฏิบัติการฯ ใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติได้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของแผนปฏิบัติการฯ และทำงานอย่างประสานสอดคล้องในทิศทางเดียวกันต่อไป โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย


โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่ารัฐบาลตระหนักถึงความร้ายแรงของอาชญากรรมค้ามนุษย์ โดยประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2558 และกำหนดให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง บูรณาการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป และสร้างเครื่องมือเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของทุกภาคส่วนให้ประสานสอดคล้องกัน โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการในการพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ มาตรฐาน และวิธีปฏิบัติ คู่มือต่าง ๆ จากองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในวันนี้ รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดวิธีและขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนให้ผู้ปฏิบัติทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน และพันธกรณีระหว่างประเทศ ซึ่งมุ่งหวังและเชื่อมั่นว่าแผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับได้ใช้ปฏิบัติงานในเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป

จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยย้ำถึงการดำเนินงานปี 2564 จนถึงปัจจุบันว่า รัฐบาลขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ตามข้อเสนอแนะสำคัญ 15 ข้อ ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา โดยมีผลความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม อาทิ จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน และคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ จัดทำแนวทางกลไกการส่งต่อระดับชาติ กำหนดให้นายจ้างต้องจัดทำสัญญาจ้างเป็นภาษาไทย และภาษาที่ลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้าใจได้ การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ริเริ่มโครงการสำคัญ (Flagship Project) เพิ่มเติม เพื่อยกระดับมาตรฐานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ได้แก่ จัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือ คุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายระดับชาติ จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ออกมาตรการเชิงรุกป้องกันเด็กจากการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการประกาศมาตรการล็อคดาวน์ส่งผลให้อาชญากรรมต่าง ๆ ลดลงทุกประเภทในช่วงปี 2563 และ 9 เดือนแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการในช่วงตุลาคม - ธันวาคม 2564 สามารถสืบสวนจับกุมคดีค้ามนุษย์ได้ถึง 188 คดี สูงกว่าปี 2563 โดยเฉพาะคดีทางสื่อออนไลน์ และได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์ ได้แก่ การคัดแยกผู้เสียหาย การประชุมค่าสินไหมทดแทน การพิจารณาคดีของศาล เป็นต้น

ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงานที่ทุ่มเททำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยหากพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ได้กล่าวมา แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างชัดเจนของรัฐบาลในการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ดังนั้นประเทศไทยสมควรได้รับการเลื่อนระดับเข้าสู่ Tier 2 ในปีนี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น